FSSIA แนะเก็บ GULF-IVL ฝ่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ฟันธงกำไรปี 65-66 โตเด่น

FSSIA แนะเก็บ GULF-IVL ฝ่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ฟันธงกำไรปี 65-66 โตเด่น ตามกลยุทธ์เติบโตแบบออแกนิค-M&A


นายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ FSSIA ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และยูเครนทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุปทานของวัตถุดิบหลักๆ เช่นอลูมิเนียม นิกเกิล พาลาเดียม ข้าวสาลี ข้าวโพด และพลังงานสำคัญอย่างน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ซึ่งทางฝ่ายวิเคราะห์คิดว่า การอ่อนตัวของราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมานี้เป็นโอกาสที่ดีในการเข้าเก็บหุ้นพื้นฐานดี และหุ้นที่สามารถมองเห็นการเติบโตสูงได้อย่างชัดเจนในปี 2565-2566

ด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นหลักๆ แล้วเกิดจากความกังวลของตลาดว่าจะเกิดการดิสรัปชั่นของอุปทานจากรัสเซีย เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินรายใหญ่ของโลก โดยราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นแรงกว่าราคาก๊าซเพราะมีอุปทานที่ตึงตัวกว่า

อย่างไรก็ตาม FSSIA ระบุว่า ก่อนที่รัสเซียจะเริ่มรุกเข้ายูเครน ราคานั้นมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้นแตะ 95 เหรียญต่อบาร์เรลก่อนแล้วในช่วงกลางเดือนก.พ. หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังเชิงพาณิชย์ลดลง ถึงแม้ราคาจะปรับขึ้นสูง แต่ FSSIA เชื่อว่าความเสี่ยงต่อราคาน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินในปีนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยคาดว่าสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนจะจบลงภายในสามเดือน โดยรัสเซียจะสามารถยึดเมืองเคียฟได้ และหลังจากนั้นจะเริ่มเจรจากับยูเครน NATO และสหรัฐ ซึ่งจะนำไปสู่ความผ่อนคลายของราคาพลังงานในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ความกังวลเรื่องผลกระทบการส่งออกของรัสเซีย และยูเครนต่อไทยนั้น FSSIA ระบุโดยอ้างอิงตัวเลขจากธปท.ในเดือน ม.ค. 2565 ว่ามูลค่าประเทศไทยนั้นมีมูลค่านำเข้าส่งออกกับรัสเซียน้อยกว่า 1% ของมูลค่าทั้งหมด และคิดเป็น 0.04% กับยูเครน

ขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงาน และอุปสงค์ปรับตัวขึ้นสูงในปีนี้ FSSIA มองว่า IVL และ GULF มีความโดดเด่นมากที่สุด แม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านรายได้ในยุโรป แต่ทั้งสองมีการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่งจากกลยุทธ์การเติบโตแบบออแกนิคและ M&A

โดยจากหุ้นทั้งสองนี้ FSSIA ระบุว่า IVL มีความเสี่ยงด้านรายได้ในยุโรปมากที่สุด เนื่องจากมีโรงงานอยู่ใน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี โปแลนด์ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกศ อิตาลี สหราชอาณาจักร และลิทัวเนีย อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าการผลิตในยุโรปจะเผชิญกับความเสี่ยงการดิสรัปชั่นย่างจำกัดจาก 1) IVL ขายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในยุโรปในยุโรสเอง 2) IVL ไม่มีฐานการผลิตในเบลารุส รัสเซีย หรือยูเครน และ 34% ของกำลังการผลิตทั้งหมดเป็นการผลิตในกลุ่ม PET, PTA, ไฟเบอร์ และเคมีภัณฑ์พิเศษ ที่คาดว่าจะมีอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์ และเครื่องแต่งกายภายหลังจากที่ยุโรปเปิดประเทศ และ 3) IVL มีการส่งออกเพียง 0.5% ของรายได้ไปยังรัสเซีย

ด้าน GULF มีความเสี่ยงจากการถือหุ้นสัดส่วน 50% ใน Borkum Riffgrund 2 (BKR2) ซึ่งเป็นวินด์ฟาร์มนอกชายฝั่งขนาดกำลังการผลิต 465MW โดยทางบริษัทเข้าซื้อหุ้นมาในมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2563 ซึ่ง BKR2 สามารถสร้างกำไรสุทธิให้กับ GULF ได้ 600 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 5% ของกำไรสุทธิที่คาดไว้ว่าจะแตะ 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 จากการคาดการณ์ของฝ่ายวิเคราะห์

ทั้งนี้ FSSIA ให้คำแนะนำ “ซื้อ กับ IVL และ GULF โดยมีราคาเป้าหมายอยู่ที่ 70 บาท และ 60 บาท ตามลำดับ

Back to top button