“ทอง” ปิดลบ 6.5 เหรียญ เหตุดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด

“ทอง” ปิดลบ 6.5 เหรียญ เหตุดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 6.5 ดอลลาร์ หรือ 0.34% ปิดที่ 1,927.5 ดอลลาร์/ออนซ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (5 เม.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับปัจจัยลบจากการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาสนับสนุนให้เฟดเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย

โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 6.5 ดอลลาร์ หรือ 0.34% ปิดที่ 1,927.5 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 5.6 เซนต์ หรือ 0.23% ปิดที่ 24.534 ดอลลาร์/ออนซ์

ด้านสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 17.9 ดอลลาร์ หรือ 1.81% ปิดที่ 973.1 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 39.70 ดอลลาร์ หรือ 1.74% ปิดที่ 2,235.30 ดอลลาร์/ออนซ์

โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.48% แตะที่ 99.4710 เมื่อคืนนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.465%

ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองคำมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

บรรยากาศการซื้อขายในตลาดทองคำยังถูกกดดันจากการที่นางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเร่งปรับลดขนาดของงบดุลเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

นางเบรนาร์ดได้แสดงความเห็นเมื่อคืนนี้ตามเวลาไทย โดยกล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นระบบ และเร่งปรับลดขนาดงบดุลจากระดับสูงเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนหน้า พร้อมกับกล่าวว่า ขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการชะลอเงินเฟ้อถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างมาก

นอกจากนี้ นางเบรนาร์ดยังกล่าวด้วยว่า การที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนได้ทำให้เงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในช่วงขาขึ้น และการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็จะทำให้เกิดภาวะคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มแรงกดดันต่อราคาสินค้าผู้บริโภค

Back to top button