“แบงก์-ไฟแนนซ์-ค้าปลีก” เสี่ยงกระทบ ธปท.เล็งคลอดเกณฑ์ “คุมโฆษณา” กระตุ้นใช้จ่าย

"หุ้นแบงก์-ไฟแนนซ์-ค้าปลีก" เสี่ยงกระทบ "ธปท." เล็งคลอดเกณฑ์ "คุมโฆษณา" กระตุ้นใช้จ่าย หวังเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน คาดภายในไตรมาส 1/66 เตรียมออกประกาศ หรือหนังสือเวียนถึง สถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน


บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(4 ต.ค.65) ว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ว่า ช่วงปี 65-66 ธปท. มีนโยบายเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน ทั้งนี้ภายในไตรมาส 1/66 ธปท.เตรียมออกประกาศ หรือหนังสือเวียนถึง สถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพื่อเป็นแนวทางการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิต ทำเป็นลักษณะการโฆษณา ผ่านแคมเปญต่างๆ หรือเรียกว่าโฆษณาเพื่อกระตุกพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่ การเชิญชวนประเภท “ของมันต้องมี” เช่น ให้กู้เพื่อไปท่องเทียวเมืองนอก กู้เพื่อ ซื้อสินค้าแบรนด์เนม กู้ผ่อนมือถือ เช่น ไอโฟน 14 ยาวๆ นานๆ

โดยบล.ดาโอ มองเป็นลบต่อกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อ (Finance, Bank) และผู้ขาย สินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือย หรือกลุ่มผ่อน 0% (IT seller, Commerce) ประเมินว่า ธปท. จะเข้ามาควบคุมสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต รวมทั้งสินเชื่อ BNPL เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการควบคุมจาก ธปท.

นอกจากนี้ประเมินว่าสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากการควบคุมข้างต้นจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย, สินค้า IT, สมาร์ทโฟน หรือกลุ่มผ่อน 0% ที่เป็นการกระตุ้นยอดขายสินค้าให้เพิ่มขึ้น กลุ่มไฟแนนซ์มองเป็นลบต่อผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตร เครดิต รวมทั้งผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า และ BNPL จาก สินเชื่อที่จะขยายตัวต่ำกว่าคาด และทำให้รายได้ดอกเบี้ยลดลง

โดยประเมินว่ากระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า และ BNPL หรือ ผ่อน 0% มากกว่า เนื่องจากยังไม่มีการควบคุมอย่างเด่นชัด กระทบต่อ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER , บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC

ขณะที่รองลงมาจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตร เครดิต ได้แก่ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เนื่องจากมีการควบคุมจาก ธปท. แล้ว, เกณฑ์ อนุมัติสินเชื่อมีความเข้มงวดตั้งแต่ช่วง COVID-19 และ NPL ที่สามารถควบคุม ได้ โดยกลุ่มไฟแนนซ์ คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” Top-pick เป็น SINGER (แนะซื้อเป้า 52.00 บาท) กลุ่มแบงก์ มองเป็นลบ เพราะจะส่งผลให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล และรายได้ดอกเบี้ยปรับลดลง

โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารที่จะได้รับผลกระทบเรียง จากมากไปน้อย อิงสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB (23% ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรของราชการ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อย กว่าบุคคลธรรมดา), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY (11%), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (9%), บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (6%) และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB  (4%) ขณะที่ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก KBANK (แนะซื้อเป้า 190.00 บาท) และ KTB (แนะซื้อเป้า 18.00 บาท) เป็น Top pick

ส่วนกลุ่ม IT Seller ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจากยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือย, iPhone ลดลง รวมทั้งสินเชื่อของผู้ประกอบการที่อาจจะลดลง (ปัจจุบัน COM7 เริ่มปล่อยสินเชื่อเองผ่าน UFund ตั้งแต่กลางปี 64 และผ่าน partner เช่น True money ภายใต้โครงการ True Loan) โดยประเมินว่าจะกระทบจากมากไปน้อยอิงสัดส่วนรายได้กลุ่ม consumer และราคาขายเฉลี่ยสินค้า ได้แก่ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7, บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART, บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ CPW, บริษัท ไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ IT , บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX  และ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SIS สำหรับกลุ่ม IT seller คงน้ำหนักการลงทุน “ต่ำกว่าตลาด” Top-pick เป็น SYNEX (แนะซื้อเป้า 25.00 บาท)

ด้านกลุ่ม Commerce ประเมินว่าสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบมากกว่าจาก basket size ที่สูงกว่า โดย บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO (แนะซื้อเป้า 18.50 บาท) จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่มจากสัดส่วนรายได้จากสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้ามากที่สุดอยู่ที่ 20% ของรายได้รวม รองลงมาเป็น บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC (แนะซื้อเป้า 46.00 บาท) ที่มีสัดส่วนธุรกิจ Fashion อยู่ที่ 24% โปรโมชั่นผ่อน 0% ตั้งแต่ 4-6 เดือน และมีสัดส่วนสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประมาณ 9%

Back to top button