KKP บวก 2% อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น หนุน NIM พุ่ง โบรกเชียร์ซื้อเป้า 90 บ. อัพไซด์ 26%

KKP บวก 2% อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น หนุน NIM พุ่ง โบรกเชียร์ซื้อเป้า 90 บ. อัพไซด์ 26% โดย ณ เวลา 15:52 น. อยู่ที่ระดับ 73.50 บาท บวก 1.50 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ธ.ค.65) ราคาหุ้น ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ณ เวลา 15:52 น. อยู่ที่ระดับ 73.50 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 2.08% สูงสุดที่ระดับ 73.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 71.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 374.96ล้านบาท

โดยก่อนหน้าบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มธนาคารหลังจากที่ กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.25% ซึ่งเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยและตลาดคาด เพราะธนาคารสามารถปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่เงินฝากไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง มองว่า ธนาคารขนาดกลางและใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ เพราะมีฝั่งสินทรัพย์ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในสัดส่วนที่สูงกว่าสินทรัพย์ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารที่เน้นปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ มองว่า จะเป็นกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อส่วนมากมีอัตราดอกเบี้ยคงตัว ดังนั้น รายรับของกลุ่มธนาคารเหล่านี้จะยังไม่ปรับเพิ่มทันที

ฝ่ายวิจัยฯยังคงน้ำหนักการลงทุน Bullish สำหรับกลุ่มธนาคาร เพราะสินเชื่อรวมปี 2565-2566 เติบโตปีละ 5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่มธนาคารขนาดกลางและใหญ่ได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ย โดยเลือกหุ้นเด่นของกลุ่มได้แก่ หุ้น BBL แนะนำซื้อราคาเป้าหมายที่ 180 บาท และหุ้น KKP แนะนำซื้อราคาเป้าหมายที่ 90 บาท

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด ระบุว่า กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% จาก 1.00% เป็น 1.25% โดยมีผลทันที การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% รอบนี้ เป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยฯ และตลาดประเมิน สำหรับในระยะต่อไป คาดว่าธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในการประชุมกนง.นัดหน้าวันที่ 25 ม.ค. 2566 ในปี 2566 คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยกรณีมากที่สุด 3 ครั้งรวม 0.75% เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่น่าขึ้นดอกเบี้ยแรงถึงครั้งละ 0.50% เพราะมีโอกาสน้อยที่จะเกิดเงินเฟ้อระลอกสองท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธนาคารต่าง ๆ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ M-rate ตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบล่าสุดของธปท. ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้ ดังนั้น ประเมินว่า NIM ของธนาคารต่าง ๆ น่าจะเพิ่มขึ้นได้ในไตรมาส 4/65 และภาพทั้งปีในปี 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวขึ้นอย่างดีต่อเนื่องท่ามกลางวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย

ดังนั้น ประเมินว่ากลุ่มธนาคารหลักขนาดใหญ่ ซึ่งได้แก่ KTB, KBANK, SCB และ BBL จะได้อานิสงส์มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากพอร์ตสินเชื่อ และโครงสร้างเงินฝาก เรายังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารที่ OVERWEIGHT โดยเลือก SCB และ BBL เป็นหุ้นเด่น

X
Back to top button