จับตา ศาลชี้ชะตา “สายสีส้ม” ปม BTSC ฟ้องล้มประมูล

จับตาวันนี้ “ศาลปกครองสูงสุด” นัดอ่านคำพิพากษาปมแก้ไขหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 1 หลังบริษัท BTSC ร้องเรียกค่าเสียหาย


1 มี.ค. 2566  โดยในวันนี้ที่ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 572/2565 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC  ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

โดยคดีนี้  BTSC  ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการ การเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เหตุแห่งความเดือดร้อน หรือ ความเสียหายจากคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงหมดสิ้นไปแล้ว ศาลฯ จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหาฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติม

ในส่วนค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอตามคำฟ้องเพิ่มเติม ได้แก่ ค่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย นั้น ศาลฯ เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการค้าตามปกติของผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว  เมื่อค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กรณีจึงไม่อาจถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ ทำให้ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

Back to top button