“BTSC” มั่นใจศาลยกฟ้องปมแก้เกณฑ์ “สายสีส้ม” ไม่กระทบอีก 2 คดีฟ้อง รฟม.

ทนายความของ " BTSC " ยืนยัน แม้ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้องคดีแก้ไขหลักเกณฑ์คัดเลือกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้กระทบคดีที่ฟ้องร้องก่อนหน้านี้อีก 2 คดี


นายโกสิทธิ์ ประสิทธิ์เวโรจน์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC  เปิดเผยภายหลังเข้ารับฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีที่ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า ทางบีทีเอสรับทราบคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้แล้ว ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดวันนี้เป็นเรื่องอำนาจในการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการประมูลครั้งก่อน

โดยศาลระบุว่า การดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ  มีอำนาจในการแก้ไขหลักเกณฑ์ และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน  รวมถึงไม่ได้มีการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ แต่อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังมีคดีฟ้องล้มการประมูลครั้งล่าสุดค้างอยู่ ฉะนั้นจะต้องรอติดตามผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดในคดีปัจจุบันต่อไป     สำหรับคดีปัจจุบันเป็นเรื่องการจัดประมูลขึ้นมาใหม่ที่มีหลักเกณฑ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้วก็ไม่มีผลกระทบต่อคดีอื่นที่ยังคงค้างอยู่

สำหรับคดีคงค้างที่ทาง BTSC ยื่นฟ้องประกอบด้วย คดีที่ 1 หมายเลขดำที่ อ. 1455/2565 กรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีมีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564  ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว ซึ่งคดีนี้องค์คณะได้มีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2566 คาดว่าอีกไม่นานจะมีคำพิพากษา

และคดีที่ 2 หมายเลขดำที่ 1646/2565  กรณี บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนโดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฉบับเดือน ก.ค.2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติครม. แล้วจึงมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งคดีนี้ศาลอยู่ระหว่างอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีขยายระยะเวลายื่นเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายออกไปจนถึงวันที่ 7 มี.ค.2566 หากไม่ยื่นในระยะเวลาดังกล่าวก็จะถือว่าไม่มีหลักฐานในส่วนนี้

Back to top button