“หุ้นแบงก์” ดีดยกแผง! รับ ธปท.ลั่นธนาคารไทยแกร่ง ไม่กระทบ SVB ล้ม

กลุ่มแบงก์ดีดกลับยกแผง ตอบรับ ธปท. ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่าแบงก์ไทยแกร่ง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และรวมถึงการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มฟินเทค และสตาร์ตอัปทั่วโลก มีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์  และไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 มี.ค. 66) ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ดีดตัวกลับหลังจากราคาหุ้นลงลึก เริ่มคลายกังวลขึ้นบ้างหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีผลกระทบค่อนข้างจำกัด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และรวมถึงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในไทย ในกลุ่มฟินเทค และสตาร์ตอัปทั่วโลก มีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ผลดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยบวกทำให้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ณ เวลา 10:12 น. นำโดย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 130.50 บาท บวก 4.00 บาท หรือ 3.16% สูงสุดที่ระดับ 131.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 129.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 673.17 ล้านบาท

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 99.50 บาท บวก 2.00 บาท หรือ 2.05% สูงสุดที่ระดับ 100.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 99.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 640.99 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 152.00 บาท บวก 3.50 บาท หรือ 2.36% สูงสุดที่ระดับ 152.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 150.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 276.60 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 16.60 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 3.11% สูงสุดที่ระดับ 16.60บาท ต่ำสุดที่ระดับ 16.30บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 121.59 ล้านบาท

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.34 บาท บวก 0.04 บาท หรือ 3.08% สูงสุดที่ระดับ 1.34 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.32 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 149.24 ล้านบาท

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 64.00 บาท บวก 1.75 บาท หรือ 2.81% สูงสุดที่ระดับ 64.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 63.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 101.57 ล้านบาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 28.75 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 1.77% สูงสุดที่ระดับ 29.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 28.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.69 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่ามีผลกระทบค่อนข้างจำกัด  เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และรวมถึงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในไทย ในกลุ่มฟินเทค และสตาร์ตอัปทั่วโลก มีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์  ที่สำคัญ ยังพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทย ไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล และหากมีกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ก็อยู่ในระดับต่ำประมาณ 200 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ที่สำคัญหากดูข้อมูลตัวเลขทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทย เปรียบเทียบกับธนาคารสหรัฐ จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะพบว่า สถานะของธนาคารไทยมีความมั่นคงที่มากกว่าในหลายมิติ  ทั้งในด้านสภาพคล่อง และความเข็มแข็งของเงินกองทุน โดยสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือ Liquidity Coverage ratio : LCR  ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เดือน ม.ค.2566 อยู่ที่ 189.49% สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ CAR ของไทย ก็สูงกว่าสหรัฐ

ขณะที่เงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ในระดับที่เข้มแข็งเช่นกัน โดยสัดส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อยู่ที่18.98%  ขณะที่เงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.93%และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 15.39% ซึ่งสูงกว่าสหรัฐ ที่มีสัดส่วน เงินกองทุนทั้งสิ้น 15.16% สัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.69% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 12.37%

รวมถึงหากดูในแง่ของโครงสร้างสินทรัพย์และเงินฝาก พบว่า ระบบแบงก์ไทยจะกระจุกตัวน้อยกว่าแบงก์สหรัฐฯ ที่ประสบปัญหา อย่างกรณีของ SVB นั้น มีโครงสร้างฝั่งสินทรัพย์ในลักษณะที่มีสัดส่วนสินเชื่อ น้อยกว่าพอร์ตเงินลงทุน โดย SVB มีพอร์ตสินเชื่ออสุทธิ 35% ของสินทรัพย์รวม ขณะที่พอร์ตเงินลงทุนในตราสารหนี้ มีสูงถึง 55% ส่วนเงินฝากก็ค่อนข้างกระจุกตัว เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มบริษัทเทคฯ กลุ่ม Venture Capital และกลุ่ม Startups

โดยจะเห็นว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะตรงข้ามกันกับระบบแบงก์สหรัฐ  เพราะบ้านเรามีพอร์ตสินเชื่อสุทธิสัดส่วน 64% ของสินทรัพย์รวม  และเป็นพอรต์ ที่มีการกระจายตัว ระหว่างสินเชื่อรายใหญ่ ในอัตรา 35.8% เอสเอ็มอี 23.5% และรายย่อย 40.7% ของสินเชื่อทั้งระบบ ที่ไม่รวมธุรกิจการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายตัวที่ดีกว่า SVB ส่วนพอร์ตเงินลงทุนสุทธิ รวมทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน ที่มีสัดส่วนประมาณ 11.7% ของสินทรัพย์รวม  จะเห็นได้ว่าจากโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของแบงก์ไทย ที่กระจายตัวและสมดุลกว่าทำให้สามารถสร้างกระแสรายรับที่มีความต่อเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อ และบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง

Back to top button