ผู้ว่าฯระยอง ไม่พบ “สารซีเซียม” เกินมาตรฐาน หลังมีข่าวส่งมาในพื้นที่

“ผู้ว่าฯระยอง” ยืนยัน ไม่พบว่า "สารซีเซียม” เกินมาตรฐาน หลังพบว่ามีการเอาฝุ่นแดงมาจากปราจีนบุรีเพื่อมารีไซเคิลใหม่


จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137″ (Cesium-137, Cs-137) ของที่หายไปจากโรงไฟฟ้า เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ หรือ NPS ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 3034 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและ ห่อหุ้มด้วยท่อเหล็กกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 6 นิ้ว ความยาว ประมาณ 8-9 นิ้ว น้ําหนัก 25 กิโลกรัม ซึ่งขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ ทําให้เกิดความกังวลว่าอาจมีผู้ที่ไม่ทราบว่าเป็นวัตถุอันตราย และมีการสัมผัสจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

กระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 19 มี.ค. สํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ดําเนินการค้นหาอย่างต่อเนื่อง โดย ปส. แบ่งทีมตรวจค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้ 1. กลุ่มตรวจสิ่งแวดล้อมภายในโรงงาน (ดิน น้ำ อากาศ) 2. กลุ่มตรวจวัสดุกัมมันตรังสีที่มีใบอนุญาต safety และ security โดยละเอียด 3. กลุ่มตรวจโรงเหล็ก ตามสถานประกอบการ

โดย นางสาวมาละนี จินดารัตน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ชุดตรวจสอบค้นหา วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 มีการตรวจพบว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 อยู่ในโรงหลอมเหล็กของเอกชนในพื้นที่ ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี  จึงเข้าควบคุมพื้นที่ด้วยการปิดกั้นไม่ให้มีการผ่านเข้าออกจนกว่าจะมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างชัดเจนอีกครั้ง ในเบื้องต้นสามารถยืนยันได้ว่าเป็น วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้า NPS จริง

ล่าสุดวันนี้ (20 มี.ค.) นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง รายงานว่า ตามที่มีข่าวออนไลน์ รายงานว่า พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 จากโรงงานหลอมเหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ส่งฝุ่นจากการหลอมเหล็กมาที่โรงงานในพื้นที่จังหวัดระยอง นั้น   สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัทเอกชนในพื้นที่ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้ส่งกากอุตสาหกรรมฝุ่นจากระบบบำบัดมลพิษอากาศจากเตาหลอมเหล็ก เพื่อดำเนินการคืนสภาพนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จำนวนประมาณ 10 ตัน มายังบริษัท เอ็น เอฟ เอ็ม อาร์ จำกัด ประกอบกิจการ นำเศษผงโลหะจากระบบบำบัดอากาศในโรงงานผลิตโลหะ มาคืนสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในกระบวนการผลิตโลหะ โดยโรงงานหลอมเหล็กได้มีการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานถูกต้อง

ขณะนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สาธารณสุขจังหวัดระยองได้ลงพื้นที่ จากการตรวจสอบภายในบริเวณโรงงานทั้งหมด ไม่พบค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน 0.15 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง

Back to top button