4 แบงก์ใหญ่ดีดต่อ! เก็ง กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% วันนี้

4 แบงก์ใหญ่ดีดต่อ! เก็ง กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% วันนี้ โบรกชู KBANK-BBL ตัวเลขตั้งสำรองระดับสูง KTB ดิจิทัลเริ่มแกร่ง ส่วนSCB หุ้นอัพไซด์สูง เป้าหมาย 132 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 มี.ค. 66) ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์บวกคึก นำโดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาหุ้น ณ เวลา 10:27 น. อยู่ที่ระดับ 103.50 บาท บวก 1.00 บาท หรือ 0.98% สูงสุดที่ระดับ104.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 103.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 549.37 ล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาหุ้น ณ เวลา 10:28 น. อยู่ที่ระดับ 134.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 0.37% สูงสุดที่ระดับ135.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 134.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 463.36 พันล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาหุ้น ณ เวลา 10:29 น. อยู่ที่ระดับ 156.00 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 0.97% สูงสุดที่ระดับ 157.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 156.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 380.96 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ณ เวลา 10:31 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 17.10 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 1.18% สูงสุดที่ระดับ 17.20 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 16.90 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 240.30 ล้านบาท

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) นัดที่ 2 ของปีในวันนี้ (29 มี.ค.) ตลาดคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ขณะที่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยช่วงที่เหลือของปี 2566 ซึ่งในมุมมองของเอเซีย พลัส มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% ถือเป็นระดับเท่ากับต้นปี 2562 สอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่กำลังทยอยกลับสู่ฐานปี 2562

สำหรับผลต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะ “ส่งผลบวกทันที” ต่ออัตราดอกเบี้ยการบริการกู้ยืมเงินระหว่างทางธนาคารด้วยกัน หรือ Interbank (มีสัดส่วน 4% ของรายได้ดอกเบี้ยรับปี 2565) ที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

และคาดหมายเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลุ่ม M-Rate (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดเรียกเก็บลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี หรือ MLR, อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR และอัตราดอกเบี้ยรูปแบบลอยตัว หรือ MRR) ของธนาคารในช่วงถัดไป

นอกจากนี้ ฝั่งต้นทุนเงินฝากประจำ และอาจรวมถึงเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บัญชีปัจจุบัน (CASA) สูงราว 80% ของเงินฝาก เช่น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ปัจจุบันอยู่ที่ 0.25% ต่ำกว่าปี 2562 ที่ 0.50%

ส่วนธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ช่วงที่ผ่านมาจนอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2562 ที่ 0.50%

ทั้งนี้ภาพรวมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาส 1/2566 ทำให้เกิดการรับรู้ผลบวกเต็มไตรมาส จะเกิดขึ้นช่วงไตรมาส 2/2566 โดยเป็นผลบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NII) กลุ่มฯ ในงวดไตรมาส 2/2566 ขณะที่ผลต่อประมาณการกำไรสุทธิกลุ่มฯ (8 ธนาคาร) ทั้งปี 2566 ที่ 2.1 แสนล้านบาท สูงขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน อิงกับเป้าหมายส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปี 2566 ของแต่ละธนาคาร ซึ่งอยู่บนสมมติฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ 1.75-2.00% ทำให้ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยสะท้อนในประมาณการของเอเซีย พลัส และตลาดแล้ว

อย่างไรก็ตาม คงน้ำหนักลงทุนเท่าตลาด โดยกลุ่มแบงก์ซื้อขายบนมูลค่า (Valuation) ไม่แพง มี P/BV ปี 2566 ที่ 0.66 เท่า และ PER ที่ 8 เท่า โดยการลงทุนสำหรับกลุ่มฯ ยังเน้นที่คุณภาพสินทรัพย์ ดังนี้ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO (ราคาเป้าหมาย 108 บาท) จากอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Coverage Ratio) ที่ 259% (VS ค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ ที่ 177%), อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 23% สูงสุดในกลุ่มฯ และเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 11%

BBL (ราคาเป้าหมาย 174 บาท) จากการตั้งสำรองเด่นสุดในกลุ่มฯ บนอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ 261%, KTB (ราคาเป้าหมาย 20.3 บาท) ROE มีพัฒนาการดีขึ้น และการขยายตัวด้านดิจิทัลผ่านอีโคซิสเต็ม ของธนาคารฯ ทั้งเป๋าตังและถุงเงิน, SCB (ราคาเป้าหมาย 132 บาท) หลังราคาหุ้นปรับตัวได้ดีกว่าตลาด กลุ่มฯ ช่วงที่ผ่านมา และการจ่ายเงินปันผลสูงขึ้น และ KBANK (ราคาเป้าหมาย 159 บาท)

บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(29 มี.ค.66) ว่า การประชุม กนง.วันนี้ คาด ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% จากดอกเบี้ยอยู่ที่ ระดับ 1.50% เป็น 1.75% มองว่ากลุ่มการเงิน และบัตรเครดิตจะได้อานิสงค์จากการขึ้นดอกเบี้ย

บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สำหรับปัจจัยในประเทศสัปดาห์นี้ให้น้ำหนักต่อการประชุม กนง. ในวันนี้( 29 มี.ค. นี้)คาดจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% สู่ระดับ 1.75% จากการที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่เหนือกรอบเป้าหมายที่ 2.00% (ล่าสุดเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 3.8%) รวมทั้งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาพการฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง จะยังเป็นเหตุผลหลักให้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ต่อ

อย่างไรก็ตามคาดว่า กนง. มีโอกาสส่งสัญญาณถึงการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในรอบถัดไปจากการที่อัตราเงินเฟ้อของไทยเริ่มชะลอตัวลงต่อเนื่องตามทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง รวมทั้งความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงทำให้ กนง. น่าจะส่งสัญญาณดังกล่าว มองเป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย

อีกทั้งคาดจะหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าได้ต่อลดทอนแรงขายของนักลงทุนต่างชาติและเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่มธนาคาร (KBANK, BBL, KTB และ SCB) รวมทั้งยังคงชอบหุ้นในกลุ่ม Defensive อาทิหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า (GPSC, BGRIM และ GULF) ที่คาดจะได้รับประโยชน์จากการกลับมาแข็งค่าของค่าเงินบาทในระยะต่อไป

Back to top button