3 หุ้นโรงไฟฟ้าดีดบวก! จับตาเปิดซอง 5 พันเมกฯ วันนี้ ลุ้น GULF-GUNKUL คว้าเกินครึ่ง

3 หุ้นโรงไฟฟ้าดีดบวก! จับตาเปิดซองประมูล "พลังงานทดแทน" 5 พันเมกฯ วันนี้ ลุ้น GULF-GUNKUL คว้าเกินครึ่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(5 เม.ย.66) ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าดีดบวก นำโดยบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน หรือ GUNKUL ราคาหุ้น ณ เวลา 10:18 น. อยู่ที่ 4.16 บาท บวก 0.02 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 0.48% มูลค่าซื้อขาย 55.41 ล้านบาท

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ราคาหุ้น ณ เวลา 10:22 น. อยู่ที่ 4.24 บาท บวก 0.02 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.47% มูลค่าซื้อขาย 9.32 ล้านบาท

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ราคาหุ้น ณ เวลา 10:33 น. อยู่ที่ 53.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.94% มูลค่าซื้อขาย 124.92 ล้านบาท

สำหรับวันนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้าราว 5,203 เมกะวัตต์ โดยมีหลายบริษัทเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ โดยเฉพาะมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและเทคนิคหลายโครงการ ทั้งโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์พ่วงแบตเตอรี่ และพลังงานลม

จากกรณีดังกล่าวทำให้คาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้น่าจะมีการเก็งกำไรหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเป็นผู้ชนะประมูลครั้งนี้มากที่สุด โดยเฉพาะบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และบริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE

โดยมีโครงการที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและเทคนิคขั้นต่ำหลายราย อาทิ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL จำนวน 25 โครงการ ทั้งโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์พ่วงแบตเตอรี่ และพลังงานลม รวม 1,100 เมกะวัตต์ และ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มีหลายโครงการแต่ไม่ได้เปิดเผย ที่ตรวจสอบได้ อาทิ โครงการพลังงานลม จำนวน 9 โครงการ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH มีโครงการโซลาร์ฟาร์มที่บริษัทร่วมประมูล ซึ่งผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคจำนวน 8 โครงการ รวม 420 เมกะวัตต์, บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER มีโครงการโซลาร์ฯ พ่วงแบตเตอรี่ ผ่าน 16 โครงการ รวม 333.74 เมกะวัตต์ และบริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE มีโซลาร์พ่วงแบตฯ ที่ผ่านการพิจารณาเกณฑ์ความพร้อมด้านเทคนิคจำนวน 38 โครงการ รวมไม่ต่ำกว่า 200 เมกะวัตต์ เป็นต้น

กันกุล-กัลฟ์’ พร้อม.!
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทยังรอผลประกาศผู้ชนะการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 5 เม.ย.นี้ โดยมีโครงการของบริษัทที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและเทคนิคขั้นต่ำจำนวน 25 โครงการ ทั้งโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์พ่วงแบตเตอรี่ และพลังงานลม รวม 1,100 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ บริษัทยังมีความพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อระยะที่สองอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเป็นไปตามความร่วมมือระหว่าง GUNKUL กับกลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนร่วมกัน ส่วนในรอบแรกจะสามารถคว้าได้กี่โครงการนั้น คงต้องรอผลประกาศจากทางกกพ.ก่อน

สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GUNKUL กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะคว้าโครงการพลังงานหมุนเวียนหลายโครงการ ที่จะส่งผลให้กำลังการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทมีงบลงทุนที่เตรียมไว้กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ภาครัฐมีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมยื่นร่วมโครงการแน่นอน แต่ต้องรอทางภาครัฐประกาศออกมาก่อน นอกเหนือจากพลังงานทดแทนตามแผน PDP แล้ว บริษัทยังขยายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในกลุ่มงานราชการเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ภายหลังจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท GULF เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้ากำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี นอกเหนือจากจำนวนเมกะวัตต์ที่จะทยอยเพิ่มเข้ามาแล้ว ในกลุ่มธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) ก็จะรับผลดีจากโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้นด้วย

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ในปี 2566 ของบริษัทคาดว่าจะเติบโตกว่า 30% ส่วนบริษัทร่วมทุนที่ทำร่วมกับบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL นั้น คงต้องรอผลประมูลขายไฟฟ้าในเดือน เม.ย.นี้ก่อน ซึ่งบริษัทได้ผ่านคุณสมบัติทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และโซลาร์พ่วงแบตเตอรี่แล้ว

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า โครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย มีโครงการโซลาร์ฟาร์มที่บริษัทร่วมประมูล ซึ่งผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคจำนวน 8 โครงการ รวม 420 เมกะวัตต์ ที่คาดว่ากกพ.จะประกาศผลผู้ชนะในเดือน เม.ย.นี้ ดังนั้นมีโอกาสที่จะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มเข้ามาอีกรวมไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมยื่นประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม หลังจากรัฐเตรียมเปิดรับซื้อรอบสองเพิ่ม 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยสนใจจะยื่นโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลม

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า บริษัทอยู่ระหว่างรอผลการประมูลภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565-2573 ระยะแรก จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ เป็นโครงการโซลาร์ฯ พ่วงแบตเตอรี่ ยื่นไป 19 โครงการ ผ่านเกณฑ์เทคนิคจำนวน 16 โครงการ รวม 333.74 เมกะวัตต์ และโครงการขยะอุตสาหกรรมจำนวน 3 โครงการ รวม 30 เมกะวัตต์ จะทราบผลในวันที่ 5 เม.ย.นี้ นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมยื่นร่วมประมูลพลังงานหมุนเวียนระยะที่สองที่ภาครัฐจะเปิดรับซื้อเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ด้วย

ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า บริษัทและกลุ่มบริษัท ได้ยื่นคำเสนอซื้อขายไฟฟ้าประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินตามที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา โดยบริษัทและกลุ่มบริษัทได้ผ่านการพิจารณาเกณฑ์ความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำในรอบแรก 30 โครงการ และเพิ่มเติมอีก 8 โครงการจากผลการยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา

บริษัทได้เตรียมความพร้อมทุกด้านตามข้อกำหนดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งด้านที่ดินและเงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินลงทุนมาจากกระแสเงินสดของบริษัท และจากการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศ ลุ้นฟังข่าวดีที่จะประกาศผลรอบสุดท้ายในวันที่ 5 เมษายนนี้

รวมทั้งเตรียมเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับการเข้าร่วมประมูลตามประกาศใหม่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่เห็นชอบปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันเปิดรับซื้ออยู่ 5,203 เมกะวัตต์ โดยปรับเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพิ่มขึ้นเป็น 2,632 เมกะวัตต์

เก็งกำไรหุ้นโรงไฟฟ้า
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด กล่าวว่า หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะชนะประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 5,203 MW มากสุด ได้แก่ GUNKUL, GULF, TSE ซึ่งมีโครงการที่ผ่านรอบคุณสมบัติมาค่อนข้างมาก จากการประเมินเบื้องต้น GUNKUL ในส่วนของพลังงานลม เข้ารอบมา 6 โครงการ และพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 16 โครงการ ขณะที่ GULF ตรวจสอบได้เฉพาะโครงการพลังงานลม จำนวน 9 โครงการ ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ยังไม่ชัดเจน

ส่วน GPSC เข้ามา 4 โครงการ เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ EPC เข้ารอบ 10 โครงการ เป็นโรงไฟฟ้าขยะ และ TSE เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 38 โครงการ

แนะนำให้ “ซื้อ” GUNKUL เป้าหมายราคา 5 บาท โดยนับจากต้นปีถึงปัจจุบัน หรือ YTD ราคากันกุลปรับตัวลดลงมากกว่า 25%, GULF เป้าหมาย 55 บาท และ TSE กว่า 3.16 บาท โดยกกพ.จะมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลในวันที่ 5 เม.ย.นี้

นายสุวัฒน์ สินสาฎก ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้นกลุ่มพลังงาน กล่าวว่า GUNKUL และ GULF จะมีสัดส่วนแบ่งจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 5,203 MW มากที่สุด โดยในส่วนของ GUNKUL คาดว่าจะชนะประมูลราว 400-500 เมกะวัตต์ กำไรจากการขายไฟฟ้า 400-500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็น 15-20% ของกำไรปกติของบริษัทในแต่ละปี

ขณะที่ คาดว่า GULF จะชนะประมูลมากกว่าหรือใกล้เคียงกับกันกุล  โดยบริษัทร่วมทุนระหว่าง GUNKUL และ GULF จะแชร์ในส่วนของพลังงานลมมากสุด ซึ่งปกติกำไรจากพลังงานลมจะสูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์

ส่วนแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มอีก 3,668.5 MW ก็คาดว่าเจ้าใหญ่อย่าง GUNKUL และ GULF ก็จะมีส่วนแบ่งมากที่สุด จากรอบแรกที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่งขายไฟฟ้าเกินกว่า 40-50% จากทั้งหมด 5,203 MW

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุ ในวันที่ 5 เม.ย. คาด GUNKUL ที่มีโครงการเข้าพิจารณาถึง 25 โครงการ มากที่สุด น่าจะได้รับคัดเลือกในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน ให้ราคาเป้าหมาย 4.80 บาท

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,203 MW แบ่งออกเป็น 1.กำลังผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 335 MW 2.กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,500 MW 3. กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 MW 4.กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2,368 MW

Back to top button