ส่งออกอาหารเจ๋ง! Q1 รายได้แกร่งเพิ่มขึ้น 10% มูลค่า 3.46 แสนบาท

3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหาร เผยตัวเลขไตรมาส 1/66 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 346,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น คาดปีนี้ส่งออกอาหารไทยยังแข็งแกร่ง


นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมี  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่า ในไตรมาส 1/66 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าการส่งออกจะหดตัวในไตรมาสที่ 2 และกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในไตรมาส 1/66 มีมูลค่า 346,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19

นอกจากนี้ ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้ง จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว

สำหรับกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดีในช่วงไตรมาส 1/66 ได้แก่

  1. การส่งออกน้ำตาลทราย มีมูลค่า 40,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.3% เนื่องจากหลายประเทศกังวลปัญหาขาดแคลนอาหาร จึงสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อย่างอินเดีย ได้ต่ออายุมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลออกไปอีก 1 ปี ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ดังกล่าว
  2. การส่งออกข้าว มีมูลค่า 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.2% เนื่องจากผลผลิตข้าวที่มีจำกัดในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญและความกังวลขาดแคลนอาหาร ทำให้ประเทศผู้บริโภคเสริมสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น
  3. การส่งออกไก่ มีมูลค่า 36,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% โดยเป็นไก่สดแช่แข็งที่ส่งออกไปจีนเป็นหลัก ส่วนไก่แปรรูปขยายตัวดีในสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป
  4. การส่งออกผลไม้สด มีมูลค่า 27,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.4% จากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก หลังจีนยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ระยะเวลาขนส่งสินค้าสั้นลง ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี จากการประเมินแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 66 การส่งออกสินค้าอาหารจะหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 จากฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อน แต่จะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 หรือในครึ่งปีหลังของปี 66 โดยในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 734,459 ล้านบาท ลดลง 1% และกลับมาขยายตัวได้ 5.2% ในครึ่งปีหลัง มูลค่าส่งออก 765,541 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 66 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% ซึ่งหากเป็นไปตามคาด จะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high) ของการส่งออกอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก คือ

  1. ภาครัฐมีนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว บริการ การค้าและการลงทุน
  2. การขาดแคลนอาหารตลอด Supply Chain ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนา และตลาดในภูมิภาคตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19
  3. ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร (Food Safety) ทำให้หลายประเทศและผู้บริโภค มีความต้องการสำรองอาหารเพิ่มมากขึ้น
  4. ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดผู้นำเข้าทั่วโลก
  5. จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น

Back to top button