เก้าอี้ ‘ปธ.สภาฯ’ ส่อรอยร้าว “รัฐบาลก้าวไกล” กระทบเสถียรภาพ

“ก้าวไกล-เพื่อไทย” พรรคร่วมส่อร้าว ยื้อชิงเก้าอี้ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” หวังคุมเกมการเมือง


เรียกได้ว่าสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งยังฝุ่นตลบ แม้ 8 พรรคการเมืองจะจับมือคล้องแขนลงนาม MOU 23 ข้อเพื่อจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” กันแล้ว แต่ดูเหมือนห้วงเวลาก่อนจะถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเดือนสิงหาคม ยังมีบทพิสูจน์ที่กำลังรอวัดใจเหล่าบรรดาแกนนำพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่มีเสียง ส.ส. ห่างกันเพียง 10 เสียงนั้นคือ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย กับการท้าชิงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร”

การแข่งขันที่ว่า เริ่มชัดเจนมากขึ้น หลังนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ส่งสัญญาณถึงพรรคก้าวไกลว่า ตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งที่เสียไม่ได้ เพราะนั้นเท่ากับการเสียโอกาสในการผลักดันนโยบายสำคัญของพรรค  ทำให้ตำแหน่งนี้ต้องมาจาก ส.ส. ของพรรคอันดับที่หนึ่งอยู่แล้ว ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองที่เคยมีมาเท่านั้น

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล

นายรังสิมันต์ โรม

และดูเหมือนสัญญาณนี้จะรับรู้ถึงพรรคก้าวไกล ที่ออกมาประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการผ่าน 2 คีย์แมนคนสำคัญของพรรคนั้นคือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ที่ย้ำชัดว่า พรรคจะไม่ยอมปล่อยเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะเผยเหตุผล 3 ข้อสำคัญที่เดิมพันด้วยการขับเคลื่อนสิ่งที่ได้หาเสียงไว้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

นายอดิศร เพียงเกษ

ขณะที่ฟากพรรคเพื่อไทย ก็ออกตัวชัดเจนเช่นกันทั้งนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  และนายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ควรได้บุคคลที่มีความเหมาะสมทั้ง คุณวุฒิ และวัยวุฒิ  ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีสมาชิกที่เหมาะสมกับการทำหน้า ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ต้องทำหน้าที่ประธานรัฐสภา เมื่อประชุมร่วมกับสภาสูง โดยเฉพาะนายอดิศร ที่เสนอในนามส่วนตัวว่า หากตกลงกันไม่ได้อาจต้องใช้วิธีการ ฟรีโหวต เพื่อเลือกตำแหน่งดังกล่าว เพราะพรรคก้าวไกลไม่ใช่พรรคเสียงข้างมากในสภา แต่เป็นพรรคที่ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 เท่านั้น

ปรากฎการณ์ที่ออกมาจากทั้ง 2 พรรคการเมือง ทำให้เห็นภาพความไม่ลงรอยกันอย่างเห็นชัดเจนระหว่างพรรคการเมืองที่มาเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ในการเลือกตั้งครั้งนี้  แม้พรรคเพื่อไทย จะประกาศชัดเจนว่า ยังสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่หากทั้ง 2 พรรคยังไม่สามารถเคลียร์ใจกันได้ จะยิ่งส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนในการจัดตั้งรัฐบาลมากขึ้น

โดยกูรูการเมืองวิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยมีความพยายามจะเอาตำแหน่งดังกล่าวมาไว้กับตัวเอง ซึ่งก็เป็นไปตามอำนาจการต่อรอง เนื่องจากเห็นว่าคะแนนเสียงที่ได้หลังจากเลือกตั้งนั้นไม่ได้ต่างกันมากกับพรรคก้าวไกล อีกทั้งทั้งพรรคก้าวไกลยังได้เก้าอี้ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารไปแล้ว ก็คือนายกรัฐมนตรี ดังนั้นก็ควรแบ่งเก้าอี้ให้กับพรรคเพื่อไทย

แต่หากเกมนี้ไม่เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยต่อรองเอาไว้ ทางพรรคเพื่อไทยอาจจะมีมีปล่อยฟรีโหวตให้เกิดขึ้นก็ได้ขณะที่มีการเลือกประธานสภาฯ และเมื่อนั้นก็มีการประเมินว่า ส.ส.ซีกฝั่งตรงข้ามหรือพรรคอื่นๆ ก็จะโหวตให้  ซึ่งเกมการเมืองนี้ก็มองกันว่า จะเป็นการเสี้ยมให้เพื่อนแตกคอกันมากขึ้น โดยเฉพาะกระแสข่าวที่เพื่อนจะแยกวงไปตั้งรัฐบาลใหม่กับคนอื่น

เมื่อไปดูบทบาทหน้าที่ถึงเรื่องที่ต้องช่วงชิงประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ก็นับว่ามีความสำคัญต่อเกมการเมืองในและกำหนดทิศทางการเมืองอยู่ไม่น้อย โดยหน้าที่หลักนั้นของ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็คือการทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมกันนี้ยังควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุม ในช่วงที่ส.ส.อภิปราย ให้อยู่ในความสงบ และมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภา

นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการบรรจุญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม กำหนดวิธีการตรวจสอบองค์ประชุม สั่งพักการประชุม เลื่อนการประชุมหรือเลิกการประชุมได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางการคุมสภาได้ในการพิจารณาเรื่องของกฎหมาย และ เป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ หลังสภาฯ มีมติเลือก และ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

หากย้อนกลับไปดูเรื่องของการดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ก็จะพบว่ามีตามประเพณีแล้วที่ผ่านมาก็มีทั้งบุคคลที่มาจากพรรคอันดับหนึ่ง และมีทั้งที่มาจากพรรคเล็กในขณะนั้น  ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดตายตัว เพียงแต่ว่าขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ทุกคนที่ผ่านมานั้นส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีได้รับการยอมรับจากส.ส.ในสภา ในเรื่องความรู้และความสามารถ และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ต้องจับตาว่า ตำแหน่งประมุขผ่ายนิติบัญญัติจะจบลงอย่างไร และจะทำให้เกิดรอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกลหรือไม่.

Back to top button