DSI หอบหลักฐาน 2 ลัง มอบ ป.ป.ช. เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวคดี“เนื้อสัตว์เถื่อน”

DSI ส่งสำนวนคดีพร้อมหลักฐาน 2 ลัง มอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. คดีลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็ง หลังพบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเพิ่ม


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (19 ม.ค. 67) ร.ต.อ. ชาญณรงค์  ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ทั้งสองคดี จำนวน 2 ลัง ไปส่งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบตู้สินค้าตกค้างในท่าเรือแหลมฉบังพบเป็นขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ผู้รับสินค้าหรือตัวแทนแจ้งข้อมูลผ่านระบบของกรมศุลกากรด้วยการแจ้งสำแดงเท็จเป็นอาหารแช่แข็ง ที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จำนวน 161 ตู้ น้ำหนักประมาณ 4.9 ล้านกิโลกรัม มูลค่าความเสียหายประมาณ 460,105,947.38 บาท เป็นคดีพิเศษที่ 59/2566

ทั้งนี้จากการสอบสวนพบเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 66 ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนขยายผลและพบการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยรับเป็นคดีพิเศษอีกจำนวน 9 คดี รวมทั้งคดีพิเศษที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ด้วย

ขณะที่จากการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับคดีดังกล่าวพบข้อเท็จจริงว่ามีกลุ่มขบวนการผู้ค้าเนื้อสัตว์กลุ่มใหญ่ ได้มีการวางแผนร่วมกันกับข้าราชการบางราย เพื่อสร้างกระบวนการทุจริตในการนำเข้าสุกรต่างประเทศ เนื่องจากเนื้อสุกรแปรรูปในต่างประเทศมีราคาถูกมาก เมื่อนำเข้ามาบวกราคาขนส่งและค่าใช้จ่ายทั้งปวงแล้วยังได้กำไรครึ่งหนึ่งของราคาที่จำหน่ายในประเทศไทย

ทั้งนี้การบวนดังกล่าวดำเนินการเริ่มจากจัดให้มีตัวแทนรับซื้อชิ้นส่วนสุกรที่ต่างประเทศรวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมาให้บริษัทในเครือข่าย หรือบริษัทที่เป็นตัวแทนเชิดของกลุ่มผู้กระทำผิดสั่งซื้อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยให้สำแดงสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ปลาหรือโพลิเมอร์ อันเป็นเท็จ เพื่อการหลีกเลี่ยงการชำระอากรที่ถูกต้องตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากร

รวมทั้งหลีกเลี่ยงการตรวจกักกันโรค โดยผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรหรือชิปปิ้งจะแจ้งให้ผู้นำเข้าดำเนินการเป็นสินค้าที่ยกเว้นการตรวจผ่านช่องทางยกเว้นการตรวจ (Green Line) ซึ่งทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้านั้น เป็นสินค้าประเภทใด โดยจะมีการคิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หรือที่เรียกว่า “ค่าเคลียร์” และนำสินค้าออกจากท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อไปส่งห้องเย็นที่เตรียมไว้แล้ว ก่อนกระจายสู่ตลาดผู้บริโภค

นอกจากนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร รวมถึงจำหน่ายสุกรภายในประเทศเกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ได้ประชุมพิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดดังกล่าวจึงมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นควรส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวไปยังคณะกรรมการ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป​

Back to top button