ก.ล.ต.เข้าพบ DSI ประสานร่วมมือสางคดี STARK

ผู้บริหาร ก.ล.ต. เข้าพบ DSI ประสานความร่วมมือและหารือการดำเนินการคดีหุ้น STARK หลังอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 67  พ.ต.ต.ยุทธนา  แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้ให้การต้อนรับ นายธวัชชัย  พิทยโสภณ รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) นางพัฒนพร  ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้เข้าพบเพื่อประสานความร่วมมือและหารือกรณีที่พนักงานอัยการได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษผู้รับผิดชอบสอบสวนเพิ่มเติม ในคดีพิเศษที่ 57/2566 กรณีการทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

พ.ต.ต.ยุทธนา ได้ให้ความเชื่อมั่นกับคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสอบสวนคดีอย่างรอบคอบ รัดกุม และพร้อมประสานความร่วมมืออย่างเต็มที่

สำหรับการหารือร่วมกันครั้งนี้ เป็นเพราะว่า ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ หาก DSI หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ต้องการให้ก.ล.ต.ชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นใด ก็ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ รวมทั้งให้ความร่วมมือในกรณีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมด้วย

สำหรับความคืบหน้าของคดีก่อนหน้านี้ก็ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา อัยการได้มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดี  STARK เพียงบางราย  จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงมีบางรายที่ไม่สั่งฟ้องทำให้ผู้เสียหายหุ้นกู้สตาร์ค เกิดความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินคดีว่าจะมีทิศทางอย่างไร และบุคคลที่เหลือจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่ รวมถึงบุคคลที่สั่งไม่ฟ้องจะมีกระบวนการอย่างไรต่อไป

โดยผู้ต้องหาที่อัยการมีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติม และยังไม่มีการสั่งฟ้องก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1)นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ที่หนีออกนอกประเทศไปแล้วอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดี 2)นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 3)นางสาวยสบวร อำมฤต และ 4)นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม ขณะที่รายชื่อของนายชินวัฒน์ อัศวโภคี ที่มีรายชื่ออยู่ตั้งแต่เริ่มคดีนั้น ล่าสุดไม่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มที่ส่งสำนวนฟ้องและกลุ่มที่สั่งสอบสวนหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสั่งฟ้องภายหลัง แต่อย่างใด

ทำให้ล่าสุดเมื่อวานนี้ (24 ม.ค.67) กลุ่มตัวแทนผู้เสียหายจึงได้มีการรวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอความเป็นธรรม โดยทางผู้เสียหายต้องการให้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกทั้งในเรื่องของพยานหลักฐาน และช่วงเวลาการกระทำความผิดว่ายังมีกรรมการบริษัทรายใดที่เป็นกรรมการอยู่ในช่วงที่มีการกระทำความผิด รวมถึงมีบุคคลใดบ้างที่มีการลงนามในเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งเอกสารการเสนอขาย  ทำให้ อัยการ ได้แจ้งว่าได้สั่งให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม “มาโดยด่วน” ภายในวันศุกร์ที่ 26 ม.ค. 2567

ด้าน นายจิณณะ แย้มอ่วม  ทนายตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้นกู้ STARK เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือให้กับทางอัยการสูงสุด และได้มีการพูดคุยกัน โดยพบความจริงว่า DSI  ไม่ได้ส่งสำนวนสั่งฟ้องนายชินวัฒน์ อัศวโภคี หนึ่งในผู้ถูกกล่าวโทษคดีสตาร์คก่อนหน้านี้  ดังนั้นจึงมองว่าเป็นประเด็นที่ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เหตุใดจึงไม่สั่งฟ้องทั้งที่มีพยานเอกสาร หลักฐาน และช่วงเวลากระทำความผิดชัดเจน โดยฐานกระทำความผิดตามกฎหมายทางอาญาอยู่ และเชื่อมโยงไปยังกรรมการ และผู้กระทำการแทน จึงตั้งคำถามว่าตั้งฐานความผิดครบถ้วนหรือไม่

โดยหลังจากนี้จะไปพบ DSI เร็ว ๆ นี้ เพื่อติดตามสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินคดี และจะนำประเด็นทั้งหมดที่ได้พูดคุยกับอัยการสูงสุดไปสอบถามทาง DSI รวมถึงจะไปร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน DSI ชุดนี้ด้วย

สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาที่ทางอัยการมีการสั่งฟ้อง มีทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ 1)นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 2)นางสาวนาตยา ปราบเพชร 3)บริษัท STARK 4)บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 5)บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI)  6)บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ 7)บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

Back to top button