4 หุ้นวิ่งคึก! หลังโบรกชี้รับอานิสงส์ “ไมโครซอฟท์” ลุยลงทุน Data Center ในไทย

โบรกแนะเก็บ WHA-AMATA-GULF-ADVANC-INSET-BE8-BBIK รับอานิสงส์ “ไมโครซอฟท์” ลงทุน Data Center ในไทย เน้นกลุ่มนิคมฯ-โรงไฟฟ้า-ผู้ให้บริการมือถือ-รับเหมางาน Data Center และบริการ Digital Tech รับประโยชน์เต็ม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(2 พ.ค.) ราคาหุ้นกลุ่มได้ประโยชน์ Microsoft ประกาศลงทุนตั้ง Data Center ในไทย บวกคึกนำโดย บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA  ราคาหุ้นปิดตลาดภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 5.05 บาท บวก 0.05 บาท หรือ 1.00% ราคาหุ้นสูงสุด 5.15 บาท ราคาต่ำสุด 5.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 312.57 ล้านบาท

ด้านบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ราคาหุ้นปิดตลาดภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 22.80 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.44% ราคาหุ้นสูงสุด 22.90 บาท ราคาต่ำสุด 22.70 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 19.24 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ราคาหุ้นปิดตลาดภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 41.25 บาท บวก 1.00 บาท หรือ 2.48% ราคาหุ้นสูงสุด 41.25 บาท ราคาต่ำสุด 40.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 331.85 ล้านบาท

ส่วนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ราคาหุ้นปิดตลาดภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 208.00 บาท บวก 10.50 บาท หรือ 5.32% ราคาหุ้นสูงสุด 209.00 บาท ราคาต่ำสุด 205.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.26 พันล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(2 พ.ค.67) ว่า จากกรณี Microsoft x Thailand: ในงาน “AI Day” ที่จัดขึ้นโดย Microsoft วานนี้ ประธานกรรมการบริหารและ CEO ของ Microsoft ประกาศตั้ง Data Center แห่งแรกในประเทศไทย โดยจะขยายธุรกิจ Hyperscale Data Center และบริการ AI ซึ่งจะแผนจะเสริมทักษะด้าน AI กว่า 100,000 คน

โดยมองบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่จะมีแรงหนุน FDI ระยะกลาง-ยาว เพราะโดยปกติการลงทุน Data Center มักต่อเนื่องยาวนานหลายเฟส และหุ้นในหลากหลายกลุ่มอาทิ 1.) อุตสาหกรรมนิคม เน้น WHA 2.) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ตามนโยบาย Microsoft เน้นใช้พลังงานสะอาดสำหรับ Data Center) เน้น GULF 3.) ผู้ให้บริการมือถือที่มีความพร้อมเป็น Partner ช่วย Microsoft ในการขยายธุรกิจในไทย เน้น ADVANC 4.) ผู้รับเหมางาน Data Center เน้นบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET 5) ผู้ให้บริการ Digital Tech ที่กระแส Digital Transformation จะเร่งและปัญหาบุคลากรระยะกลาง-ยาวจะดีขึ้นเน้นบริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8

ส่วนบล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า ประเด็น Microsoft in Thailand ประกาศตั้ง Data Center ในไทย คาดยกระดับความสามารถด้าน AI ให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน เพิ่ม GDP ให้กับไทย 4.3 ล้านล้านบาท ในปี 2030 (ปี 66 จาก 17.9 ล้านล้านบาท โต 24%) เป็นบวกต่อกลุ่มนิคม,โรงไฟฟา,อิเล็กฯ และ Tech platform โดยแนะนำหุ้น Top Pick อาทิ WHA-GULF และ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK

บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า ภาพตลาดและแนวโน้มรับข่าวดี Microsoft ลงทุนไทย หลัง Micro soft เซ็น MOU ลงทุนในไทยไปเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว โดยเบื้องต้นหุ้นต้นน้ำที่จะได้อานิสงส์คาดโรงไฟฟ้า และนิคมอุตสาหกรรม ส่วนหุ้นเทคอื่นๆ ยังต้องรอดูความชัดเจนในขั้นตอนต่อไปว่าจะได้ประโยชน์จากการเป็นคู่ค้า หรือ จะกลายเป็นคู่แข่งสำหรับผู้ประกอบการ คลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ไทยหุ้นแนะนำวันนี้ AMATA และ WHA

อนึ่งวานนี้ (1 พ.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Microsoft Build AI Day Event” ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันความพร้อมของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม AI และพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรม AI เติบโตในไทยอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งได้ดำเนินนโยบายสำคัญหลายประการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับสถานะไทยในโลก โดยรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ระยะที่ 2 ช่วงปี 2567-2570 เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังของ AI และการประมวลผลแบบคลาวด์ในประเทศ โดยดำเนินโครงการเสริมระบบนิเวศ AI ของไทย

รวมทั้งรัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งไทยตระหนักดีถึงความต้องการโดยตรงของภาคธุรกิจในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบรรลุพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึง นโยบายที่จะทำให้ ครึ่งหนึ่งของการผลิตพลังงานในประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583)

นอกจากนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหากำลังการผลิตพลังงานสีเขียวใหม่มากกว่า 9 กิกะวัตต์ผ่านระบบ Utility Green Tariff ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมั่นใจได้ว่าการลงทุนในไทยจะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่าย และในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมร่วมกับบริษัทดิจิทัลชั้นนำแบบบริษัทไมโครซอฟท์ สร้างแซนด์บ็อกซ์แห่งความยั่งยืนที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพมาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย MoU ฉบับนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นและคำมั่นสัญญาจากทั้งสองฝ่ายในการบรรลุเป้าหมายนี้ในประเทศไทยด้วยกัน

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างกันนี้จะนำไปสู่อนาคตร่วมกัน พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิด เข้าใจความต้องการ และพร้อมหาทางออกที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตในประเทศไทยต่อไป

ด้านนายสัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไมโครซอฟท์ ให้คำมั่นว่า ไมโครซอฟท์ พร้อมเข้ามาลงทุน Data Center ในไทย และพร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพ ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะ AI ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2025

สำหรับในประเทศไทย แผนงานด้านการเสริมทักษะของไมโครซอฟท์ในระยะแรกจะช่วยยกระดับความสามารถด้าน AI ให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน โดยโครงการ AI Skills for the AI-enabled Tourism Industry มุ่งเสริมทักษะด้าน AI ให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ โครงการนี้จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน สถาบันฝึกอบรมอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยี และไมโครซอฟท์ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวในเมืองรองทั่วประเทศ

โดยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านการใช้งาน AI เพื่อภาคการท่องเที่ยวของผู้ฝึกสอน 500 คนจากสถาบันฝึกอบรมอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยี โดยผู้ฝึกสอนเหล่านี้จะนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปเผยแพร่ให้กับเยาวชนและคนทำงานรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม ผู้เข้าอบรมสามารถเข้าถึงเนื้อหาในหลักสูตรได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่านแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ที่ดูแลโดยพันธมิตรของไมโครซอฟท์ ทั้งยั้งสามารถขยายโครงการและการเรียนรู้ได้ในระยะยาวต่อไป

Back to top button