
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 15 มี.ค.59
– ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 113.09/12 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 113.50/90 เยน/ดอลลาร์
– ส่วนเงินยูโร ช่วงเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.1077/1079 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ 1.1100/1130 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,382.93 ลดลง 11.34 จุด หรือ 0.81% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 44,431 ล้านบาท
– ปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,602.61 ล้านบาท (SET+MAI)
– ศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือน มี.ค.59 ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน 6.74 จุด มาสู่ระดับ 66.33 จุด ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างค่อนข้างจะเชื่อว่าตลาดทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อเก็งกำไร หลังราคาทองคำฟื้นตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ค้าทองคำและกลุ่มผู้ลงทุนทองคำ ส่วนปัจจัยลบสำคัญยังอยู่ที่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและทิศทางดอกเบี้ยของ FED
– ผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่า จะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,280-1,360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,150-1,210 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 21,000-22,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 19,000-20,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
– นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และกลุ่มซีไอเอ็มบี จะให้บริการทำธุรกรรมเงินริงกิต-บาทอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการค้าไทยมาเลเซีย หลังได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ในตัวแทนผู้ให้บริการเงินริงกิต-บาท หรือ Appointed Cross Currency Dealers (ACCDs) จากธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางแห่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นและความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างธนาคารทั้ง 2 ประเทศ โดยผ่อนคลายกฎระเบียบให้ธุรกิจการค้าใช้เงินสกุลท้องถิ่น ช่วยกำหนดราคาง่ายขึ้น ประหยัดต้นทุนทางการค้า ไม่ต้องบวกเผื่อค่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และไม่ต้องพึ่งพาระบบการชำระเงินธนาคารของประเทศอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ค้า
– ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ ก.ล.ต. และภาคธุรกิจกองทุนรวม ลงนามความร่วมมือใน “โครงการพัฒนาช่องทาง การเข้าถึงกองทุนรวม” เพื่อร่วมกำหนดมาตรฐานการทำงาน สร้างความสะดวกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์กองทุนรวม สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมกองทุนรวมและตลาดทุนไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่พัฒนาระบบงานกลาง และคาดว่าระบบจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในต้นปีหน้า
– ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายผ่อนคลายการเงิน ในการประชุมวันนี้ หลังจากที่ได้ตัดสินใจใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมครั้งก่อน โดยที่ประชุม BOJ มีมติคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ระดับ -0.1% สำหรับสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่นำเงินไปฝากไว้กับ BOJ นอกจากนี้ยังได้คงนโยบายการเพิ่มฐานเงินรายปีที่ระดับ 80 ล้านล้านเยน ผ่านโครงการซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่
– กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนม.ค. ปรับตัวขึ้น 3.7% จากเดือนที่แล้ว โดยดัชนีผลผลิตของโรงงานและเหมืองแร่อยู่ที่ 99.8 ส่วนการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น 3.5% ขณะที่สต็อกสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมขยับลง 0.2%
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบทจีน เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง อันมีสาเหตุมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอุปสงค์การซื้อบ้านขนาดใหญ่ พร้อมระบุถึงปัจจัยหนุนหลายประการ ซึ่งรวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง การพัฒนาเขตเมืองอย่างรวดเร็ว และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง
– ธนาคารกลางจีน (PBOC) และธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ประกาศต่ออายุข้อตกลงสว็อปค่าเงินระดับทวิภาคี (BCSA) ออกไปอีก 3 ปี
ทั้งนี้ ข้อตกลง BCSA ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างธนาคารกลางจีนและธนาคารกลางสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการเงินในภูมิภาค
– ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ เช่น การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) , ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.พ., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมี.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน-การอนุญาตก่อสร้างเดือนก.พ. เป็นต้น
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์