ภัยแล้งขั้นโคม่า! เขื่อนอุบลรัตน์น้ำเหลือ1% ขอนแก่นผุดนโยบายแจก”น้ำมือสอง”

ภัยแล้งขั้นโคม่า! เขื่อนอุบลรัตน์น้ำเหลือ 1% ขอนแก่นแจก"น้ำมือสอง"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(16 มี.ค.) รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.ขอนแก่นว่า ปีนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นห่วงสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะที่เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้ได้อยู่เพียงร้อยละ 1 หรือ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูลวันที่ 15 มี.ค. 59) จากความจุเขื่อนทั้งหมดกว่า 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึงหากไม่มีน้ำไหลเข้ามาเพิ่ม คาดว่าน้ำที่มีอยู่จะใช้ได้ถึงประมาณวันที่ 11 เม.ย.นี้เท่านั้น

ขณะที่ ล่าสุดเขื่อนอุบลรัตน์ได้ประกาศใช้น้ำก้นเขื่อนหรือ deadstorage แห่งแรกในประเทศไทยซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากน้ำก้นเขื่อนจำเป็นต้องเหลือไว้รักษาสมดุลเขื่อน โดยเขื่อนอุบลรัตน์เคยนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จึงกล่าวได้ว่าการนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ภัยแล้งระดับวิกฤติในรอบ 20 ปี

สำหรับผลตรวจสอบคุณภาพน้ำก้นเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยสามารถนำมาผลิตน้ำอุปโภคบริโภคได้แต่ผู้ใช้น้ำต้องร่วมมือกันประหยัดเพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายแจกจ่ายน้ำมือสอง(น้ำบำบัด)ให้พื้นที่ชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อใช้ในการเกษตร ภายใต้โครงการมข.ช่วยภัยแล้งโดยมีเป้าหมาย 5หมู่บ้านในเขตชุมชนบ้านโนนม่วง ชุมชนหนองแวงและชุมชนอื่น ๆ รอบมหาวิทยาลัยที่มีความประสงค์ใช้น้ำบำบัดเพื่อการเกษตร ซึ่งจะมีการเริ่มแจกจ่ายน้ำในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้

โดยร่วมกับสำนักงานชลประทานที่  6 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งน้ำที่ชุมชนจะได้รับผ่านกระบวนการบำบัดจึงปลอดภัย เหมาะสำหรับใช้เพื่อการเกษตรโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานชลประทานคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค ไร้กลิ่นเหม็นมาใส่ในน้ำทำให้เกิดการบำบัดมีค่าออกซิเจนตามค่ามาตรฐาน คือ20 มิลลิกรัมต่อลิตรอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรแต่ก็ยังไม่สามารถนำไปบริโภคได้

 

จังหวัดบุรีรัมย์: ขณะเดียวกันสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ยังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดน้ำในแม่น้ำมูลซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงหลายจังหวัดภาคอีสาน โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ มีสภาพตื้นเขินแห้งขอด จนมองเห็นตอหม้อสะพานโผล่ และบางจุดแห้งขอดจนสันดอนทรายโผล่

จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและเกษตรกรหลายหมู่บ้านในพื้นที่ ต.ท่าม่วง, ต.สะแก และ ต.สตึก จำนวนมากที่อยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำมูล ต้องอาศัยน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร และการประมง ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

โดยเฉพาะชาวบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง ที่ทำอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังเกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 50 ครัวเรือน ไม่สามารถเลี้ยงปลากระชังได้ต้องปล่อยกระชังทิ้งร้าง ทำให้ต้องสูญเสียโอกาสขาดรายได้ จากปกติทุกปีจะเลี้ยงได้ปีละ 3-4 ครั้ง แต่ปัจจุบันเหลือเกษตรกรที่ยังเสี่ยงเลี้ยงอยู่เพียง 3-4 รายเท่านั้น ก็ประสบปัญหาขาดทุน ส่วนที่เหลือพากันอพยพไปขายแรงงานทั้งก่อสร้าง ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ที่ จ.ชลบุรี และ จ.กาญจนบุรี เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว

 

จังหวัดชัยภูมิ: นายชูศักดิ์ ตรีสาร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งขยายวงกว้างครอบคลุม 123 ตำบล กว่า 1,700 หมู่บ้าน ทำให้จังหวัดเร่งติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้งมีปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา โดยเรียกประชุมด่วนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 16 อำเภอ ให้ทำความเข้าใจประชาชนถึงผลกระทบภัยแล้ง หลังหลายพื้นที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุน ปัญหาไม่สามารถขุดเจาะบ่อบาดาลนำน้ำขึ้นมาช่วยเสริมผลิตด้านประปาได้ และเขต อ.หนองบัวแดง และ อ.แก้งคร้อ ต้องใช้มาตรการเปิดจ่ายน้ำเป็นเวลาตั้งแต่ 05.00-10.30 น. คาดว่า จะมีต้นทุนน้ำเหลือใช้ได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การหาแหล่งน้ำดิบเสริมปล่อยออกจากบึงละหานที่ อ.จัตุรัส มาช่วยระบบประปาให้กับอำเภอใกล้เคียง อ.เนินสง่า อ.บ้านเขว้า และสถานีประปา ต.บ้านค่าย อ.เมืองชัยภูมิ ที่มีการขอปล่อยน้ำมาช่วยแต่ละครั้งกว่า 3 แสนคิว แต่พบว่ามีเกษตรกรที่ทำนาปรังดักสูบจนทำให้น้ำมาไม่ถึงสถานีระบบผลิตประปา จนเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชนในหลายพื้นที่ต้องได้รับผลกระทบต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ในราคา 240 บาทต่อเที่ยว ทำให้จังหวัดได้นำรถน้ำแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือราษฎรต่อวันสูงกว่า 2 แสนคนต่อวัน แต่ยังไม่เพียงพอเพราะยังมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่มีน้ำบริโภคอีกกว่า 1 แสนคนต่อวัน จากปัญหาการดักสูบน้ำทำนาปรังของเกษตรกรทำให้น้ำไม่ถึงสถานีสูบน้ำ ส่งผลให้ระบบเสียหายใช้การไม่ได้อีก 60 สถานี

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้น ทำให้ชัยภูมิออกเป็นประกาศจังหวัดแจ้งไปยังผู้นำในทุกหมู่บ้าน ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่อย่าดักสูบน้ำที่เข้านา ที่ทางจังหวัดขอเปิดจากบึงละหาน เขื่อนลำปะทาว เพื่อปล่อยผ่านมาช่วยผลิตประปาในช่วงนี้โดยเด็ดขาด ซึ่งจะกระทบในภาพรวมของจ.ชัยภูมิ และกระทบการขาดแคลนน้ำประปาไม่ไหลในอีกหลายพื้นที่

ส่วนช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน 2559 ขอความร่วมมือไปยังประชาชนทั้ง 16 อำเภอ ให้งดการนำถังน้ำขนาดใหญ่บรรทุกขึ้นท้ายรถกระบะเล่นสาดน้ำสงกรานต์ พร้อมจัดโซนนิ่งให้เล่นน้ำอย่างประหยัด พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ หากพบว่ามีการนำรถบรรทุกน้ำออกมาเล่นสงกรานต์แบบผิดวิธี ทางจังหวัดอาจจำเป็นจะต้องใช้มาตรการการกระทำผิด พรบ.การจราจร เข้ามาดำเนินการกับผู้ไม่ให้ความร่วมมือ

Back to top button