หุ้นยุโรปปิดลบ ตลาดวิตกข่าวโกงทดสอบค่าไอเสียรถยนต์ยุโรป

ตลาดหุ้นยุโรปปิดอ่อนแรงลงเมื่อคืนนี้ (22 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มรถยนต์ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวการใช้ซอฟท์แวร์โกงการทดสอบค่าไอเสียของบริษัทผลิตรถยนต์บางแห่ง รวมทั้งข่าวที่ว่า ผู้ผลิตรถยนต์ 5 รายของเยอรมนีจะทำการเรียกคืนรถยนต์ดีเซลจำนวน 630,000 คันในยุโรป เพื่อแก้ปัญหาระบบซอฟท์แวร์จัดการไอเสีย


สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับลง 0.3% ปิด (22 เม.ย.) ที่ 348.46 จุด, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,569.66 จุด ลดลง 13.17 จุด หรือ -0.29%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,373.49 จุด ลดลง 62.24 จุด หรือ -0.60% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,310.44 จุด ลดลง 71.00 จุด หรือ -1.11%

ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงเนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มรถยนต์ หลังจากนายอเล็กซานเดอร์ โดบรินดท์ รมว.ขนส่งเยอรมนี กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์ 5 รายของเยอรมนีจะทำการเรียกคืนรถยนต์ดีเซลจำนวน 630,000 คันในยุโรป เพื่อแก้ปัญหาระบบซอฟท์แวร์จัดการไอเสีย โดยบริษัททั้ง 5 ดังกล่าว ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์, โอเปิล, โฟล์คสวาเกน, ออดี้ และปอร์เช่

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เดมเลอร์ เอจี กำลังดำเนินการตรวจสอบภายในองค์กร เกี่ยวกับประเด็นการรับรองมาตรฐานการปล่อยมลพิษในรถยนต์ ตามคำร้องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ โดยการตรวจสอบดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีข่าวอื้อฉาวโกงการตรวจสอบไอเสียในรถยนต์ดีเซลของโฟล์คสวาเกนเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

หุ้นเดมเลอร์ร่วงลง 5.1% หุ้นเปอร์โยต์ดิ่งลง 1.7% หุ้นเฟี๊ยต ไคร์สเลอร์ ออโต้โมบิลส์ ดิ่งลง 2.4% หุ้นบีเอ็มดับเบิลยู ปรับตัวลง 1.6% หุ้นโฟล์คสวาเกน ดิ่งลง 1.3% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับแรงกดดัน หลังจากผลสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน จากระดับ 53.1 ในเดือนมี.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคบริการของยูโรโซนในเดือนเม.ย.ขยับขึ้นแตะ 53.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบสองเดือน จากระดับ 53.1 ในเดือนมี.ค. ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลงแตะ 51.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน จากระดับ 51.6 ในเดือนมี.ค.

ตัวเลข PMI ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า การขยายตัวของภาคธุรกิจยูโรโซนชะลอตัวลงในเดือนนี้ โดยการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดนี้มีขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

X
Back to top button