ดอลล์อ่อนค่าต่อเนื่อง หลังบีโอเจคงนโยบาย-เฟดไม่รีบขึ้นดบ.

สกุลเงินดอลลาร์ร่วงลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 เม.ย.) เนื่องจากยังคงมีแรงขายกดดัน หลังจากที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นตัดสินใจไม่ผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี ประกอบกับมีการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐอ่อนแรงลงในเดือนที่แล้ว ซึ่งคลายแรงกดดันในเรื่องที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย


สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่าค่าเงินยูโร (29 เม.ย.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1448 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.1350 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ลดลงแตะระดับ 1.4602 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4610 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียลดลงแตะระดับ 0.7602 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7638 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงเมื่อเทียบเยนที่ระดับ 106.69 เยน จากระดับ 108.10 เยน และลดลงเมื่อเทียบฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9593 ฟรังก์ จากระดับ 0.9667 ฟรังก์ ในขณะที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2543 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2518 ดอลลาร์แคนาดา

สำหรับดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินดอลลาร์สหรัฐกับสกุลเงินหลักอีก 6 สกุล ร่วงลง 0.76% แตะที่ 93.048 ในการซื้อขายวันศุกร์ ดอลลาร์ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเงินเยนต่อเนื่องมาตั้งแต่วันพฤหัสบดี หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายในการเพิ่มฐานเงินรายปีที่ระดับ 80 ล้านล้านเยน ผ่านทางการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่า BOJ จะใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า BOJ ต้องการเวลามากขึ้นในการประเมินผลกระทบจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ พร้อมระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจและดัชนีราคาผู้บริโภคยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะขาลง

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยวานนี้ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ. การขยับขึ้นของดัชนี PCE เพียงเล็กน้อย และยังคงห่างจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ของเฟด บ่งชี้ถึงการใช้จ่ายที่ซบเซาของผู้บริโภค และส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังคงไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนก.พ.

ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 0.1% ในเดือนมี.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ. รายได้ส่วนบุคคลของชาวสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.74 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 0.4% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. ส่วนอัตราการออมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.355 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2555 จากระดับ 6.964 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ลดลง 89.0 จาก 91.0 ในเดือนมี.ค.

Back to top button