อีก 1 เดือนรู้กัน! เก็บไม่เก็บภาษีเครื่องดื่ม

สศค. มั่นใจจะได้ข้อสรุปจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ภายใน 1 เดือนนี้


นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ยังไม่ได้ข้อสรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง

อย่างไรก็ตามยืนยันว่าภายใน 1 เดือนจากนี้จะได้ข้อสรุปแน่นอน โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือเพื่อตกผลึกอีกประมาณ 2 ครั้ง เนื่องจากในการหารือก่อนหน้านี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะเรื่อง non-tax และเรื่องของสลากปิดขวดที่จะต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค

สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่ม อาทิ ICHI, OISHI, SAPPE , MALEE, CBG และ SSC เป็นต้น

โดยหากพิจารณารายสินค้าพบว่า เครื่องดื่มชูกำลัง น่าจะกระทบมากสุด เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 18 กรัม/100 มิลลิลิตร นำโดย CBG ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มยาชูกำลัง (คาราบาว เกลือแร่) 100%

รองลงมาคือเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้และ Functional Drink ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 12-15 กรัม/100 มิลลิลิตร น่าจะกระทบต่อ MALEE และ SAPPE แต่เนื่องจาก SAPPE มีสัดส่วนการขายในประเทศเพียง 40%ของยอดขายรวม อีก 60% ส่งออกตลาดต่างประเทศ คาดว่าผลกระทบต่อมาตรการภาษีจะมีเฉพาะส่วนที่ขายในประเทศ

ตามมาด้วยเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 10-12กรัม/100 มิลลิลิตร นำโดย SSC มีสัดส่วนการผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม อาทิ EST และ 100PLUS และเครื่องดื่มชา LIPTON เครื่องดื่มแรงเยอร์ เป็นต้น

สำหรับเครื่องดื่มชาเขียว มีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 7-9 กรัม/100 มิลลิลิตร มี 2 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจ คือ ICHI และ OISHI ทั้งนี้คาดว่า ICHI น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากธุรกิจกระจุกตัวในธุรกิจเครื่องดื่ม 100% ของรายได้รวม และเน้นขายเพียงตลาดในประเทศทั้งหมด รองลงมาคือ OISHI เนื่องจากมีการกระจายธุรกิจ โดยธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวมีสัดส่วน 50% และร้านอาหาร 50%

 

Back to top button