เทเรซา เมย์พลวัต 2016

เทเรซา เมย์ กำลังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สอง ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ แต่เธอจะได้เป็นมาร์กาเรต แทตเชอร์คนที่ 2 หรือไม่ ยังไม่มีใครรู้


วิษณุ โชลิตกุล

 

เทเรซา เมย์ กำลังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สอง ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ แต่เธอจะได้เป็นมาร์กาเรต แทตเชอร์คนที่ 2 หรือไม่ ยังไม่มีใครรู้

รู้แต่ว่าภารกิจของเทเรซา เมย์ นั้น ยากยิ่งกว่างานของซีสซีฟัส ตัวละครในตำนานกรีกโบราณที่ถูกสาปให้ต้องผลักหินขึ้นเขา เพื่อจะเห็นมันกลิ้งหลุดลงไปที่ตีนเขา แล้วต้องโผล่ขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดไป เพราะอังกฤษในยุคที่ถอนตัวจากสหภาพยุโรป ย่อมไม่เหมือนเดิมในยุคของมาร์กาเรต แทตเชอร์อย่างมาก แม้ว่าเธอจะประกาศคำสัญญาตามสูตรของนักการเมืองว่า “อังกฤษจะต้องดีขึ้น” ซึ่งไม่มีใครเชื่อมากนัก 

เทเรซา เมย์ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ สังกัดพรรคคอนเซอร์เวทีฟ  ซึ่งเฉือนเบียดคู่แข่งในพรรคคนอื่นๆ ทำให้นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบันซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำอังกฤษ ประกาศว่าจะยื่นหนังสือลาออกต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธภายในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้เพื่อเปิดทางให้เมย์ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่แทน

เมย์ เป็นคนที่อยู่ฝั่งสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรปต่อ แต่เธอยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องที่จะหวนคืนไปสู่เส้นทางเดิมอีกแล้ว หลังจากผลประชามติออกมา       โดยภารกิจสำคัญหลายประการที่ต้องเร่งมือทำคือ

– การพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปให้บอบช้ำหรือเสียหายน้อยที่สุด โดยต้องเจรจากับชาติสมาชิกรายประเทศของสหภาพยุโรปเพื่อทำข้อตกลงใหม่ที่ซับซ้อนกว่าสมัยที่อยู่ในสภาพยุโรป

– การรับมือกับผู้ถือสัญชาติของชาติในสหภาพยุโรปที่อยู่ในอังกฤษ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 3 ล้านคน เพื่อที่จะให้ไม่เกิดความวุ่นวายและทำลายความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปในระยะยาว

คำถามสำคัญที่เมย์จะต้องตอบโจทย์ประชาชนและรัฐสภาให้ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวคือ จะทำให้ความสามารถในการนำเพื่อให้การเจรจากับผู้นำในสหภาพยุโรปเพื่อให้ความสัมพันธ์ในระดับใหม่หลังจากการถอนตัวเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษมากที่สุด และต้องไม่ทำให้อังกฤษสูญเสียฐานะนำในเวทีโลกดังที่เคยเป็นมาในอดีตให้ได้ ท่ามกลางความท้าทายว่าจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยมากน้อยเพียงใดจากการถอนตัวออกมาเป็นชาติโดดเดี่ยวในยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่อังกฤษไม่คุ้นเคยมาก่อนในหลายร้อยปีมานี้

ดังที่ทราบกันดีว่า ผลกระทบต่อสหราชอาณาจักรต่อการออกจากสหภาพยุโรปจะมีอยู่ 4 ด้านหลัก ได้แก่

– การจัดการกับผู้อพยพและย้ายถิ่นฐาน ประมาณปีละ  500,000 คน คิดเป็นประมาณ 0.9% ของประชากรสหราชอาณาจักร และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

– การใช้เงินที่ลดลงจากที่เคยเสียให้เป็นค่าธรรมเนียมสหภาพยุโรปปีละประมาณ 9,000 ล้านปอนด์ จะก่อให้เกิดผลดีอย่างไรต่อเศรษฐกิจ

– การค้าระหว่างประเทศภายใต้กรอบการค้าเสรีในภูมิภาคยุโรป ที่หดหายไปจะมีการเตรียมความพร้อมอย่างไรเพื่อรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีบางอย่าง และการส่งออกที่จะหดหายไปจากการที่เคยมีสัดส่วนการส่งออกไปกลุ่มสหภาพยุโรปสูงถึง 47% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดหรือคิดเป็นประมาณ 8% ของ GDP

– ฐานะของลอนดอนในการเป็นศูนย์กลางให้บริการทางการเงินของภูมิภาคยุโรปที่เคย เอื้อประโยชน์ต่อค่าเงินปอนด์ฯ จะหดหายไป และไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับสหภาพยุโรปซึ่งอาจเสียสถานะให้กับเยอรมนีแทน

ท่ามกลางความท้าทายนี้  การนำเมย์ ไปเทียบกับนางสิงห์ แทตเชอร์ในอดีต ย่อมเป็นแรงกดดันที่สำคัญ ซึ่งทำให้งานของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษยากลำบากมากขึ้น 

X
Back to top button