ก.ล.ต.ควบคุม ‘สื่อ’…?ลูบคมตลาดทุน

พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับแก้ไข และเพิ่งผ่านการลงมติของสนช.ไปแล้ว กำลังสร้างความปั่นป่วนในวงการตลาดหุ้น


ธนะชัย ณ นคร

 

พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับแก้ไข และเพิ่งผ่านการลงมติของสนช.ไปแล้ว กำลังสร้างความปั่นป่วนในวงการตลาดหุ้น

มีมุมมอของคนในวงการบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกฯ ที่ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น

วงการกองทุนก็มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย

แต่แน่นอนล่ะ ไม่มีใครกล้าที่จะเปิดเผยชื่อของตนเอง เพราะไม่อยากถูกสำนักงาน ก.ล.ต. มองว่า “อารยะขัดขืน”

ไม่มีใครอยากเป็นศัตรูกับ “อำนาจรัฐ” ครับ

นั่นเพราะอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจที่ตนเองบริหารงาน

ส่วนในวงการสื่อมวลชน ซึ่งเท่าที่ได้วิเคราะห์กัน ก็มองว่า (อาจ) ได้รับผลกระทบ

การให้สัมภาษณ์ของคุณภัทธีราดิลกรุ่งธีระภพ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ที่แนะนำสื่อมวลชนให้เลี่ยงใช้คำว่า “แหล่งข่าว” นั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ประเด็นนี้ ก็ต้องไปถามยัง ก.ล.ต. ว่าในกฎหมายหลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไข ตีความเช่นนั้นหรือไม่

สมมุติว่า มีการห้ามใช้ หรือขอไม่ให้ใช้คำว่า “แหล่งข่าว” จริงๆ

และมีสื่อมวลชนนำมาใช้ โดยกล่าวถึงหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง และมีผลต่อราคาหุ้นนั้นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

ก็ต้องถามต่อว่า ก.ล.ต.มีอำนาจในการเรียกสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวมาสอบถาม หรือซักถาม หรือผ่านกระบวนการสอบสวนของ ก.ล.ต. หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ก.ล.ต.อาจส่งเรื่องไปว่า

แหล่งข่าวคนนั้น คือใครได้หรือไม่…?

หากสื่อมวลชนไม่ตอบ เพราะมองว่า เป็น “จรรยาบรรณ”

นั่นแสดงว่าสื่อมวลชนมีความผิดหรือไม่

                หรือมีอีกกรณีอุทาหรณ์ คือ หากสื่อมวลชนได้ข่าว Exclusive บริษัทใดบริษัทหนึ่ง (จากแหล่งข่าวที่ไม่สามารถระบุได้) โดยข่าวชิ้นนั้นๆ เกี่ยวเนื่องกับแผนงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์

และข่าวชิ้นนั้น หรือแผนงานนั้นๆ ยังไม่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์

ถามว่า สื่อมวลชนมีความผิดหรือไม่ และอย่างไร

เป็นการนำข้อมูลภายในของ บจ.นั้นๆ มาเปิดเผยหรือไม่

หากสื่อนั้นๆ มีผลประโยชน์แอบแฝงจากข่าวนั้นๆ ด้วย ก็อาจพอจะเข้าใจได้ว่านำข้อมูลภายในมาหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง (ด้วย)

แต่หากสื่อนั้นไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝง และทำหน้าที่ของสื่ออย่างที่ควรทำจริงๆ เราสามารถทำได้หรือไม่

ข่าว Exclusive ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนองค์กรใด หรือประเทศใดๆ เขาถือว่า นั่นคือผลงานชิ้นโบว์แดง

และยิ่งหากเป็นกรณีเหตุการณ์ที่สำคัญ ก็จะช่วยสร้างผลงานให้กับนักข่าวคนนั้นๆ หรือสื่อองค์กรนั้นๆ

มิเช่นนั้น ข่าวที่นำเสนอก็จะมีแต่ข่าวที่เรียกว่า “ข่าวพีอาร์”

เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ก็คงอยู่ในบรรยากาศ “จืดสนิท”

เว้นแต่ข่าว Exclusive บางข่าว ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือด้านใดด้านหนึ่งที่สำคัญมากๆ

กรณีเช่นนี้ สื่อก็จะมีวิจารณญาณเองว่า ควรที่จะนำเสนอหรือไม่

มีคำถามต่อว่า หาก ก.ล.ต.มีอำนาจในการตรวจสอบสื่อ การทำงานของสื่อ กล่าวโทษสื่อ

หรือ “จำกัด” ในการนำเสนอข่าวของสื่อ (ที่เกี่ยวกับเรื่องหุ้น)ตามที่มีการวิเคราะห์กันเอาไว้

ประเด็นนี้ นอกจากจะถามไปยัง ก.ล.ต.แล้ว ก็ต้องถามไปยัง “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ว่า จะเข้าข่ายการละเมิดการทำหน้าที่ หรือสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือไม่ (ยกเว้น กรณีหมิ่นประมาท)

พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขนี้ เพิ่มอำนาจในการใช้ “ดุลยพินิจ” ค่อนข้างมาก

นี่คือความน่ากลัว

และเป็นการเขย่าขวัญของคนในวงการตลาดทุน

ทุกวันนี้ ก็ยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในหลายๆ ครั้ง จะเป็นไปตามข่าวที่มีการนำเสนอ ไม่ว่าจะมาจากสื่อโดยตรง หรือผ่านโซเชียลต่างๆ

แต่ในด้านของสื่อนั้น เชื่อว่า ทุกๆ สื่อก็จะมีกระบวนการตรวจสอบของแต่ละองค์กรอยู่แล้ว

นักลงทุนเอง (รายย่อย) นั้น ก็มีพัฒนาการที่ดี เก่งและฉลาดในการติดตามข้อมูลต่างๆ  พวกเขาสามารถแยกแยะได้ เรื่องไหนจริง หรือเท็จ

ทว่า กฎหมายแก้ไขใหม่นี้ ไม่ว่าข่าวนั้นๆ จะจริงหรือเท็จ ก็มีความผิด

ตลาดหุ้นไทยในยุคที่ไร้ข้อมูลข่าวสาร ก็จะมีบรรยากาศที่ “จืดชืด” มากๆ

คิดจะจับหนูตัวเดียว

แต่ถึงกับต้องมาเผาซะหมดทุ่งเลยเหรอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               

 

Back to top button