ลิ้นกับฟันพลวัต 2016

มีคนพยายามใช้สายตาอย่างเป็นกลางประเมินว่า การขึ้นสู่อำนาจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และการเถลิงอำนาจเหนือรัฐสภาของพรรครีพับลิกัน มีความหมายต่อความสัมพันธ์ในการเมืองระหว่างประเทศ 2 ระดับ คือ ระดับโครงสร้าง และระดับทวิภาคี


วิษณุ โชลิตกุล

 

มีคนพยายามใช้สายตาอย่างเป็นกลางประเมินว่า การขึ้นสู่อำนาจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และการเถลิงอำนาจเหนือรัฐสภาของพรรครีพับลิกัน มีความหมายต่อความสัมพันธ์ในการเมืองระหว่างประเทศ 2 ระดับ คือ ระดับโครงสร้าง และระดับทวิภาคี

ในด้านโครงสร้าง การเมืองระหว่างประเทศ การที่นายทรัมป์ประกาศชัดเจนว่า จะมุ่งสร้างความเจริญและสนใจเฉพาะผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ มีการตีความว่ากระบวนทัศน์ของนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯอาจจะเปลี่ยนไป จากที่เคยทำบทบาทเสมือนเป็นตำรวจโลกมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ นับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงสงครามเย็น และในช่วงจัดระเบียบโลกใหม่ใต้ฉันทามติวอชิงตัน

ที่ผ่านมา สหรัฐฯมองว่า การต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น และต่อต้านการก่อการร้ายสากลหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ซึ่งถือเป็นภัยโดยตรงของสหรัฐฯ  ต้องพึ่งพาการหยุดยั้งภัยร้ายนี้ที่นอกประเทศ แต่จากนี้ไป แนวทางใหม่ที่อาจจะไม่ถึงกับเป็นลัทธิมอนโรในอดีต จะปรับเป็น “แนวร่วม” ที่ลดบทบาทตำรวจโลกของสหรัฐฯลงเป็นลักษณะ “นำร่วม” แบบที่เคยเกิดขึ้นกับนาโต้ในปัจจุบัน

โครงสร้าง 3 เส้าอิทธิพลของโลก น่าจะทำให้สหรัฐฯประหยัดงบประมาณแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล แต่ผลลัพธ์ผลทางการเมืองระดับโลกที่จะเกิดขึ้นคือ รัสเซีย และจีน จะมีบทบาทสร้างพื้นที่อิทธิพลจำเพาะที่ขยายวง(ในยุโรป เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และเอเชีย-แปซิฟิก) มากขึ้น การแสดงความยินดีของผู้นำรัสเซียและจีนอย่างกระตือรือร้นต่อชัยชนะของนายทรัมป์ โดยอ้างว่าพร้อมเพื่อจะยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

ภายใต้โครงสร้างหลักดังกล่าว ความสัมพันธ์ด้านหลักของสหรัฐฯกับจีน น่าจะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างชัดเจน เพราะขนาดของเศรษฐกิจที่นับวันจะห่างกันลดลงมากขึ้น จากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในอัตราเร่ง

เพราะฉะนั้น ภายหลังจากนาย Trump ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมปีหน้า ก็คงค่อนข้างชัดเจนว่า เราจะเห็นมหาอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ เป็น 3 ประเทศใหญ่ในโลก คือ สหรัฐอเมริกา  รัสเซีย  และ จีน  โดยผมคาดการณ์ว่า แต่ละอำนาจก็จะมุ่งดูแลพื้นที่ใกล้ชิดประเทศตัวเองมากกว่า ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อสถานการณ์ความสงบโดยรวมของโลก  แต่ผลกระทบต่อประเทศใกล้เคียงกับมหาอำนาจเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ยังคาดการณ์ยาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่อยู่ใกล้เคียงกับจีน เราจะบริหารการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียอย่างไร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ความสัมพันธ์ในลักษณะ “ลิ้นกับฟัน” ระหว่างสหรัฐฯและจีน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่จีนลดท่าทีความสัมพันธ์บนพื้นฐานทางอุดมการณ์ลงไป มาเป็นการยึดเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับจีน แบ่งออกเป็นหลายมิติด้วยกัน 2 ด้าน คือ ทางความมั่นคง และทางเศรษฐกิจ

ในด้านความมั่นคง เขตอิทธิพลของสหรัฐฯแต่เดิมในช่วงสงครามเย็น มีการคลี่คลายตัวลงไป แต่ยังไม่มากนัก สหัรฐฯยังมีฐานทัพสำคัญในภูมิภาคนี้เช่นที่เกาะกวม โอกินาวา และฟิลิปปินส์ ในลักษณะเครือข่ายที่เป็นเขตอิทธิพลทางทหารเหนือมหาสุมทรแปซิฟิก แต่จีนก็ใช้วิธีการทางการทูต และขนาดเศรษฐกิจสร้างอิทธิพลในเชิงรุกต่อเนื่องมากขึ้นในระยะยาวที่สหรัฐฯยังต้องระมัดระวังตลอดมา

ในด้านเศรษฐกิจ ขนาดของเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และทุนสำรองมหาศาลของทางการจีน ทำให้ จีนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มาโดยตลอด โดยเฉพาะทางการค้า

การได้เปรียบดุลทางการค้าที่ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษของจีนต่อสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าแรงที่ต่ำกว่า มาสู่พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ดีขึ้นชัดเจน ผสมกับมาตรการทางการเงินที่กดค่าหยวนให้ต่ำกว่าปกติ เป็นสิ่งที่สหรัฐฯคับข้องใจมาโดยตลอด และมีการปะทุออกมาเป็นระยะๆ

มาตรการของนายทรัมป์ที่มีลักษณะ “ต่อต้านจีน” ในการต่อรองดุลการค้า และการกดดันให้จีนลอยตัวค่าหยวน เป็นนโยบายหาเสียงที่ส่งผลให้มีคนสนับสนุนจำนวนมาก แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผลักดันให้เกิดขึ้นในแบบ “พูดง่าย แต่ทำยาก” โดยเฉพาะการบีบให้ลอยตัวเงินหยวน

ท่าทีของผู้นำจีนมีแสดงออก “สองด้าน” พร้อมกันจึงสะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ในด้านการทูต โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาย้ำว่า จีนมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการร่วมมือกับสหรัฐฯ ในทุกๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านโครงสร้างสาธารณูปโภค ขยายขอบเขตความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และพร้อมเปิดรับการปรับเปลี่ยนข้อตกลงการค้าที่จะส่งผลดีต่อการเปิดเสรีและสร้างความสะดวกต่อการค้าในภูมิภาค แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะต้องมีความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) และไม่ควรนำประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

อีกด้านหนึ่ง สื่อทางการจีนก็ออกมาระบุว่า หากนายทรัมป์ เดินหน้าตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน ด้วยการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสู่ระดับ 45% ตามที่กล่าวในช่วงรณรงค์หาเสียง รัฐบาลจีนก็จะใช้นโยบายตอบโต้ต่อสินค้าสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน โดยที่คำสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งจะถูกแทนที่ด้วยแอร์บัส และยอดขายรถยนต์สหรัฐฯ และไอโฟนในจีนจะได้รับผลกระทบ ขณะที่จีนจะระงับการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดจากสหรัฐฯ รวมทั้งจำกัดจำนวนนักศึกษาที่ไปศึกษาในสหรัฐฯ ด้วย

ลิ้นกับฟันของสหรัฐฯ และจีนในยุคของทรัมป์ จะทำให้โลกสะเทือนเมื่อช้างสารปะทะสังสันทน์กันอย่างปราศจากข้อสงสัย ไม่ว่าจะดีหรือร้าย

 

Back to top button