มาตรการหมดมุขพลวัต 2016

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือเพื่อตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลยังแข็งแกร่ง มาตลอดด้วยการโหมโฆษณาชวนเชื่อ และปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ แต่ปรากฏการณ์ของการนำเอา ”มาตรการสิ้นคิด” ที่เรียกกันว่า เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ (helicopter money) มาใช้ล่าสุด ส่งสัญญาชัดเจนว่า วิกฤตทางด้านสติปัญญาของทีมงานเศรษฐกิจรัฐบาลนี้ “โคม่า” แค่ไหน


วิษณุ โชลิตกุล

 

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือเพื่อตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลยังแข็งแกร่ง มาตลอดด้วยการโหมโฆษณาชวนเชื่อ และปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ แต่ปรากฏการณ์ของการนำเอา ”มาตรการสิ้นคิด” ที่เรียกกันว่า เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ (helicopter money) มาใช้ล่าสุด ส่งสัญญาชัดเจนว่า วิกฤตทางด้านสติปัญญาของทีมงานเศรษฐกิจรัฐบาลนี้ “โคม่า” แค่ไหน

มติ ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา อนุมัติให้มีการนำงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แจกเงินสดให้กับผู้มีรายได้น้อยรายละ 1,500-3,000 บาท จำนวน 5.4 ล้านคน ที่ถือว่ามีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งหากจำนวนคนที่ได้รับเงินสดตามนิยามของรัฐบาลชุดนี้ จะคิดเป็น 7-8% ของประชากรทั้งประเทศไทยเลยทีเดียว

แม้ว่าจะไม่ต้องถึงกับคำนวณลึกลงไปถึงขั้นที่มีคนยกมาวิจารณ์ว่า หากแจกเงินให้คนที่มีรายได้ทั้งปีไม่ถึง 30,000 รับไป 3,000 บาท จะได้รับเงินเฉลี่ยวันละ 8 บาท ส่วนคนรายได้ตลอดปี 30,000-100,000 จัดไปปีละ 1,500 เฉลี่ยวันละ 4 บาท ซึ่งต่ำมาก เราจะพบว่า เพียงนับแค่ยอดรวมของเงินแจกรายหัวดังกล่าว ก็สามารถพูดได้ว่า เงินที่แจกไปแต่ละรายหัวนั้น แค่ “ตดไม่ทันหายเหม็น” ก็หมดแล้ว ไม่เกิดโภคผลอะไรมากนัก ถือเป็นนโยบายหวังผลการเมืองเรื่องคะแนนนิยมล้วนๆ

มาตรการนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของรัฐบาลนี้ที่เลือกเอาการหว่านเงินเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อทางเศรษฐกิจระยะเฉพาะหน้าแบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” แต่เป็นครั้งที่สอง และเป็นมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 4 ของปีนี้

ครั้งแรกของ เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ในรัฐบาลชุดนี้ เกิดขึ้นก่อนสงกรานต์ โดยรัฐบาลเจียดเงินงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท มาแจกข้าราชการระดับล่างและกลาง ที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่งจำนวน 1 ล้านคน คนละ 1,000 บาท

ครั้งนั้น นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง (เจ้าของยุทธศาสตร์ “เห็บสยาม” อันลือลั่น) ระบุว่า เป็นมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 3 หลังจากมาตรการการคลังส่งเสริมความเป็นอยู่วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรก และมาตรการเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน 3.5 หมื่นล้านบาท เป็นครั้งที่ 2 ไม่นับรวมเอาโครงการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ บ้านประชารัฐ และช้อปช่วยชาติ ที่เคยออกมาในช่วงส่งท้ายปีเก่า และซ้ำอีกในช่วงเดือนเมษายน

การที่รัฐบาลทหารและเทคโนแครตภาครัฐ ออกมายอมรับโดยปริยาย ว่าผู้มีรายได้น้อยหรือรากหญ้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคม (แม้จะไม่บอกว่าเป็นเพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด) เท่ากับส่งสัญญาณทางอ้อมว่าหมดความสามารถที่จะหามาตรการอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจอื่นใดแล้ว จึงต้องเลือกใช้การแจกเงินสด ที่เป็นการล้างผลาญมากกว่าประชานิยม (ที่รัฐบาลชุดนี้ตั้งท่ารังเกียจมาแต่ต้น) หลายเท่า

                การแจกเงินสดในรูป เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ไม่ว่าจะใช้คำสวยหรูแค่ไหน ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างกัน และรัฐบาลก็รู้ดีว่าจะต้องมีเสียงวิจารณ์ตามมา การที่พลเอกประยุทธ์ออกมาแถลงว่า นี้เป็น “มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ที่มีรายได้น้อย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ” และแก้ต่างล่วงหน้าว่า “…ขอร้องว่ามาตรการดังกล่าวอย่าใช้คำว่ารัฐบาลแจกเงิน ถือเป็นมาตรการช่วยเหลือให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ตามที่เราเคยประกาศไว้แล้วให้มีการไปขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย วัตถุประสงค์เพื่อต้องการดูแลประชาชนที่มีอาชีพอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจาก…” ก็เป็นข้ออ้างแบบตีปลาหน้าไซธรรมดา กับการใช้ความช่ำชองในกระบวนการ “ได้ทำ” มากกว่า “ทำได้”

มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันรางวัลโนเบล ต้นตำรับทฤษฎีการเงินอันลือลั่นแห่งชิคาโก เป็นคนเริ่มให้นิยามเฮลิคอปเตอร์ มันนี่คำนี้ โดยใช้เรียกมาตรการ นิว ดีล ของยุคแฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ (รวมทั้งแสตมป์อาหาร ที่ยังใช้มาถึงปัจจุบันในสหรัฐ) ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองว่าเป็นการเอาเฮลิคอปเตอร์หย่อนถุงยังชีพเป็นจุดๆ ชั่วขณะ ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน แต่ถือเป็นการสูญเปล่า

เบนจามิน เบอร์นันเก้ ผู้ว่าเฟดคนก่อน เจ้าของฉายา “เฮลิคอปเตอร์ เบน” เป็นคนรื้อฟื้นมาตรการนี้มาใช้อีกครั้งอย่างโด่งดัง ด้วยการออกมาตรการ QE มาใช้ พร้อมกดดอกเบี้ยเฟดต่ำติดพื้นนานกว่า 7 ปี แล้วเสริมด้วยมาตรการทางการคลังที่เขาเรียกว่า “การหย่อนถุงยังชีพทางเฮลิคอปเตอร์” (helicopter drop) เคียงคู่กับมาตรการทางการเงินของเฟด โดยหมายถึงการเอางบประมาณรัฐไปจ่ายโดยตรง (ผ่านหลายช่องทาง รวมทั้งการลดหรืองดภาษีบางภาคชั่วขณะ) เป็นจุดตรงที่มีปัญหาโดยตรงเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อชั่วคราวให้รอดจากอาการซวนเซ

ประสิทธิผลของเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ไม่เคยชัดเจน แต่มันก็ได้กลายเป็นมาตรการ “ต่อต้านเงินฝืด” ที่รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกนำไปใช้อย่างสิ้นคิดเป็นการทั่วไป 

เมืองไทยนั้น พรรคแมลงสาบประชาธิปัตย์ในปี 2552 ริเริ่มมาตรการ เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ มาใช้ ด้วยการหว่านเงินงบประมาณเพิ่มเติม 104,099.79 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการ ”แจกเงินหาเสียงล่วงหน้า” โดยแจกเงิน 2,000 บาทต่อหัวสำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำไม่เกิน 14,999 บาทต่อปี หวังจะกระตุ้นให้ชาวโลกรับรู้ว่าประเทศไทย เศรษฐกิจไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ครั้งนั้น นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ยอมรับว่า การแจกเงินที่ประยุกต์มาจาก “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ของสหรัฐนั้น เป็นการโยกเงินให้กับประชาชนที่มีความจำเป็น และมีสัดส่วนในการออมเงินต่ำ เมื่อได้รับเงินไป ก็น่าจะมีผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หลังจากนั้น มาตรการเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ รุ่นต่อๆ มา ของพรรคที่ปากต่อต้านประชานิยม ก็ถูกผลิตตามมาอีกหลายโครงการ รวมทั้ง “ไทยเข้มแข็ง”

มาตรการ เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ เพื่อสร้างอุปสงค์เทียมให้ตลาดสินค้าและบริการชั่วขณะ ในชื่อ “ประชารัฐ” ที่อ้างว่าเหนือกว่าและดีกว่าประชานิยม อาจจะอ้างได้ว่า เป็นความจำเป็น และล้างผลาญงบประมาณน้อยกว่า เพราะทำโดย “คนดีที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน” แต่สิ่งที่แน่นอน (แม้จะไม่มีการยอมรับโดยตรง) คือ มันเกิดจากความสิ้นคิด และหมดมุขของผู้ผลิตนโยบายมากกว่า

ข้อดีข้อเดียวที่ชัดเจนของ เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ครั้งนี้ (หรืออาจจะมีครั้งต่อๆ ไป) อยู่ที่ว่า ในระยะต่อไป ข้ออ้างในการกล่าวโทษ “รัฐบาลที่ผ่านมา” อันน่าอนาถ ก็จะไม่มีความน่าเชื่อถืออีกต่อไป

Back to top button