ว่ายน้ำกับฉลามพลวัต 2017

วันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก แสดงอาการผันผวน เปิดบวกและร่วงลงมาในแดนลบช่วงต้นตลาด เพราะการตีความเชิงลบเกี่ยวกับ การเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานซึ่งแม้จะต่ำกว่าคาดในเดือน ธ.ค. แต่การที่ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานได้พุ่งขึ้นหลังจากลดลงในเดือน พ.ย. ก็ได้แสดงถึงภาวะที่สดใสในตลาดแรงงาน


วิษณุ โชลิตกุล

 

วันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก แสดงอาการผันผวน เปิดบวกและร่วงลงมาในแดนลบช่วงต้นตลาด เพราะการตีความเชิงลบเกี่ยวกับ การเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานซึ่งแม้จะต่ำกว่าคาดในเดือน ธ.ค. แต่การที่ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานได้พุ่งขึ้นหลังจากลดลงในเดือน พ.ย. ก็ได้แสดงถึงภาวะที่สดใสในตลาดแรงงาน

ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานในสหรัฐฯ พุ่งสู่ระดับ 26 ดอลลาร์ โดยทะยานขึ้น 2.9% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ปรับตัวลงในเดือนพฤศจิกายน

นายโธมัส เปเรซ รมว.แรงงานสหรัฐฯ กล่าวว่า การที่ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานพุ่งขึ้น 2.9% นับเป็นการปรับตัวดีที่สุดในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และถือเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมของรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา คำยืนยันดังกล่าว เปิดโอกาสให้กับการตีความว่าเฟดฯจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น ทำให้เกิดแรงขายขึ้นมา

แรงขายในช่วงต้นตลาด ได้รับการปฏิเสธในเวลาไม่นานนักมื่อมีการตีความใหม่ที่ทำให้เกิดแรงซื้อในตลาดกลับมาแรง ว่า ไม่ว่าเฟดฯจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ อัตรากำไรสุทธิของบริษัทหลักอเมริกันจะเพิ่มขึ้นจนสามารถชดเชยจนกระทั่งหักกลบความกลัวต่ออัตราดอกเบี้ย

ผลลัพธ์คือ แรงซื้อดันดัชนีขึ้นไปทำจุดสูงสุดเมื่อวันศุกร์ในตลาดนิวยอร์ก จนดัชนีดาวโจนส์ บวกไปถึงระดับ 19,999 จุด ก่อนที่จะร่วงลงมาเล็กน้อยทำจุดปิดสูงสุดใหม่ที่ 19,963.80 จุด เพิ่มขึ้น 64.51 จุด ยังผลให้ดัชนีอื่นเช่น ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,521.06 จุด เพิ่มขึ้น 33.12 จุด และ ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,276.98 จุด เพิ่มขึ้น 7.98 จุด  

ความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กในเวลานี้จะถึงเวลาผ่องถ่ายนอำนาจจากนายบารัค โอบามา มาสู่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ส่อให้เห็นว่า มีความพยายามจะสร้าง “หลักหมุด” เป็นสถิติว่า ดัชนีดาวโจนส์สามารถปิดเหนือ 20,000 จุดได้ เพื่อสะท้อนการต้อนรับประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกาในฐานะ “ความหวังใหม่” ที่จะนำอเมริกาพ้นจากภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากผลพวงของโลกาภิวัตน์ที่ย้อนกลับมาเล่นงานเศรษฐกิจอเมริกาเสียเอง

ความพยายามที่จะดันดัชนีดาวโจนส์ ให้ยืนเหนือระดับ 20,000 จุดให้ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ควรหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผล แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า นับจากนี้ไป ตลาดหุ้นและราคาหุ้นในตลาดนิวยอร์ก มีลักษณะที่เข้าข่าย “ว่ายน้ำกับฉลาม” ซึ่งหมายความถึงการเล่นเกมเสี่ยงทางการเก็งกำไรอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน มีกีฬาแบบ “สุดขั้ว” ชนิดหนึ่งที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมจากบรรดานักท่องเที่ยวระดับ “ฮาร์ดคอร์” หลายประเทศ เกิดขึ้นในสหรัฐฯ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ในฐานะธุรกิจประเภทหนึ่ง นั่นคือ การว่ายน้ำกับฉลาม

นักท่องเที่ยวจากจีน เป็นกลุ่มคนที่ดูเหมือนว่าจะเป็นลูกค้าหลักที่ใช้บริการ “ว่ายน้ำกับฉลาม” ที่อุ่นหนาฝาคั่ง แต่ก็มีคนชาติอื่นๆ เริ่มให้ความสนใจ และมีการแพร่กระจายของธุรกิจนี้ไปทั่วโลกมากขึ้น จนดูเหมือนว่า อีกไม่นานน่าจะมีโอกาสแซงหน้ากีฬ่าเสียวสยองประเภท บันจี้จั๊มพ์ ขาดลอย

พฤติกรรมดังกล่าวถูกนำมาเทียบเคียงกับการเก็งกำไรในตลาดหุ้นอเมริกาในยามที่ดัชนีดาวโจนส์วิ่งเป็นภาวะกระทิงมายาวนานเกือบ 2 เดือนแล้ว มากถึงเกือบ 2 พันจุด โดยมีการพักฐานชั่วคราวน้อยมาก

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของแรงซื้อที่เข้ามาในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ไม่ได้เกิดจาดความเชื่อมั่นเกินจริงต่อนายทรัมป์อย่างเดียว แต่เป็นผลบางส่วนจากภาวะราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของโลก (ไม่นับทองแดงและข้าว) ที่พากันพุ่งขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลทางอ้อมไปยังเศรษฐกิจของชาติส่งอออกสินค้าโภคภัณฑ์สารพัดในโลกนี้

ในแง่ของราคาน้ำมัน คำปรามาสของบรรดาผู้ร้ในวงการเรื่องการเบี้ยวข้อตกลงของชาติส่งออกน้ำมัน เริ่มมีผลตรงกันข้ามชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นจากชาติส่งออกน้ำมันขนาดใหญ่อย่าง  คูเวตและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้นำร่องลดกำลังลดการผลิต และตามด้วยการที่ บริษัทน้ำมันของซาอุฯเริ่มเจรจากับลูกค้าเพื่อลดการจำหน่ายน้ำมันตามข้อตกลงที่ทำไว้กับกลุ่มโอเปก เรื่องปรับลดกำลังการผลิต สู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรล/วันโดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา และมีกำหนดเป็นเวลา 6 เดือน

การขับเคลื่อนที่มีนัยสำคัญของซาอุดีอาระเบีย ทำให้ความเชื่อมัน่ว่าราคาน้ำมันจะเป็นขาขึ้นต่อเพิ่มขึ้น หมางเมินต่อข้อมูลที่มีรายงานจาก บริษัท เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะบ่อน้ำมันสหรัฐฯ รายงานว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 529 แท่น เพิ่มเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกัน 

ความเชื่อมั่นต่อนายทรัมป์ว่าจะเข้ามากอบกู้สภาพจิตใจที่เหี่ยวเฉาของชาวอเมริกันในระดับล่าง ที่ระบุว่า หลังการฟื้นตัวของวิกฤติซับไพรม์ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใยจากพรรคเดโมแครต ตัวอย่างของครอบครัวจำนวนมากในชุมชนเมืองเล็กๆ หรืออุตสาหกรรมตะวันตกดิน ที่ชีวิตหล่นร่วงลงในลักษณะ “เทวดาตกสวรรค์” จากวิกฤติซับไพรม์เมื่อ 8 ปีก่อน ยังคงถูกครอบงำด้วยความยากจน และสิ้นหวัง งานที่มีทำคืองานใช้แรงงานระดับล่างนับวันจะสูญหายไป เพราะโรงงานในชุมชนปิดกิจการ ผู้คนที่คุ้นเคยพากันล้มหายตายจากเพราะสภาพหดหู่จากยาเสพติด และความรุนแรงอื่นๆ ตรงกันข้ามกับ ภาพรวมงดงามที่พรรคการเมืองใหญ่ในสหรัฐฯพูดเรื่อง การฟื้นตัวเศรษฐกิจ การมีงานทำ การลดภาษี การค้าเสรี การลดกฎระเบียบของรัฐ :ซึ่งไมได้ยึดโยงเข้ากับปัญหาประจำวันที่เป็นวิกฤติชุมชน

แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่า โดยแท้จริงแล้ว นายทรัมป์และทีมงานที่ชนะการเลือกตั้งมาจากการหาเสียง จะสามารถสร้างงานกลับคืนมาให้กคนระดับล่างที่มีการศึกษาต่ำและปานกลางในอเมริกาได้หรือไม่ แต่ทุกคนรู้ว่า ความเสี่ยงนี้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย  ปล่อยให้ความไม่มั่นคงทางอาชีพ กัดกร่อนชีวิตไปทุกเมื่อเชื่อวันตามยถากรรม

การว่ายน้ำกับฉลามของนักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกที่ถูกลากลู่ถูกังไปกับตลาดนิวยอร์กยามนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของการเลือกเอาสวรรค์หรือนรก อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการ “จำต้อง” เลือกทั้งสองอย่างพร้อมกัน เพราะไม่มีทางอื่นให้เลือก

Back to top button