พาราสาวะถี อรชุน

มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ระบุเป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัย และไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ ขอให้กลุ่มบุคคลยุติการกระทำดังกล่าวทันที กรณีสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หัวหน้าคสช.ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไม่รู้คำว่าเสรีภาพทางวิชาการในมุมของผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้นหมายถึงอะไร


มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ระบุเป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัย และไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ ขอให้กลุ่มบุคคลยุติการกระทำดังกล่าวทันที กรณีสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หัวหน้าคสช.ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไม่รู้คำว่าเสรีภาพทางวิชาการในมุมของผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้นหมายถึงอะไร

แต่คงไม่ต้องแปลกใจต่อท่าทีเช่นนี้ เพราะบรรดาอธิการบดีทั้งหลายแหล่นั้น นับตั้งแต่เกิดการขับไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมพวกจนมาถึงหลังการรัฐประหาร เจตนารมณ์ชัดเจนคือไม่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและยินดีที่จะรับคำสั่งจากหัวหน้าคณะรัฐประหารตลอดเวลา เมื่อพิจารณามุมนี้คำว่าเสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นเรื่องแสลงหู

ทั้งๆ ที่เมื่อดูเนื้อหาของแถลงการณ์ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษานั้น เป็นการแสดงออกด้วยความห่วงใย เป็นการทักท้วงเพื่อให้เกิดการคิดและเปลี่ยนแปลง ดังข้อความที่ปรากฏ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 ในลักษณะดังกล่าวมีความพร่ำเพรื่อและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันควรที่จะใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าว

อีกทั้ง ในหลายกรณีรัฐบาลและหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ยังสามารถดำเนินการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายทั่วไปหรือขั้นตอนตามกฎหมายปกติได้ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจที่เผด็จการและขัดกับหลักนิติธรรม ถึงแม้ว่าการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวจะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและขาดความชอบธรรมในกระบวนการออกกฎหมาย

จากนั้นจึงตามมาด้วยข้อเรียกร้องให้หัวหน้าคสช.ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เหล่านี้คือข้อเสนอทางวิชาการ และเป็นหน้าที่ของฝ่ายถือครองอำนาจในการที่จะชี้แจงหรือตอบโต้ หากอ่านใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คำตอบที่จะได้รับซึ่งพอจะเขียนข่าวรอล่วงหน้าได้ก็คือ แล้วมีกฎหมายใดดีกว่านี้อีกไหม ลองเสนอมา ถ้าไม่มีก็อย่ามาพูดอะไรให้รัฐบาลเสียหาย นี่เป็นภาพและเสียงที่หลายคนคุ้นหูและชินตา

ไม่รู้ว่าการตีความและออกคำสั่งของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล เพราะมองแค่มุมที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในเวลานี้หรือเปล่า กรณีการควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย หากมองแค่เรื่องนี้แล้วจึงขู่ที่จะสอบสวนทางวินัยของผู้บริหารสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและสะท้อนภาวะทัศนคติที่คับแคบและอคติเป็นอย่างยิ่ง

ความจริงแล้ว มิติของการใช้ม. 44 นั้นดำเนินการอย่างกว้างขวาง ดูได้จากการที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเสวนาผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ในหัวข้อ 44 MISSION IMPOSSIBLE: ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ ม.44 ทำไม่ได้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ว่าด้วยการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในยุคของคสช.

โดย ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ชี้ว่า ประเด็นที่มีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งแบ่งเป็น 8 เรื่องคร่าวๆ ได้แก่ เรื่องการจัดระเบียบสังคม คำสั่งที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58, 13/59 หรือ 41/59 ที่ให้อำนาจกสทช.ในการควบคุมการนำเสนอข่าวสาร

คำสั่งที่ใช้เพื่อปะผุความผิดพลาดจากการออกกฎหมาย เช่น คำสั่งเรื่องเรียนฟรี 15 ปี เพื่อแก้ไขจากร่างรัฐธรรมนูญมีชัยที่กำหนดเรื่องเรียนฟรี 12 ปี คำสั่งที่ใช้กับเรื่องการเมือง โดยในบางคำสั่งจงใจใช้กับคนบางคน เช่น การถอดยศทักษิณ หรือเรื่องการให้อำนาจเจ้าหน้าที่จัดการกับคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์  รวมทั้งเรื่องวัดธรรมกาย ก็อยู่ในหมวดนี้

เรื่องการปกครองท้องถิ่น ทั้งเรื่องการระงับการเลือกตั้งท้องถิ่น การปลดผู้ว่าฯกทม. คำสั่งเรื่องการจัดการกับองค์กรอิสระ การแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ เรื่องนี้ออกคำสั่งเยอะมาก อย่างน้อย 22 ฉบับ มีคนได้รับผลกระทบหลักหลายร้อยคน โดยเรียกร้องความเป็นธรรมไม่ได้  สุดท้ายเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ การยกเว้นการใช้ผังเมือง คำสั่งเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเอื้อต่อทุนใหญ่มากขึ้น

ผลจากการใช้มาตรา 44 จนถึงนาทีนี้ นักกฎหมายจากไอลอว์เห็นว่าการใช้อำนาจจากมาตรา 44 ไม่เวิร์ก อาจจะเวิร์กในแง่จิตวิทยา หล่อเลี้ยงใจคนหรือมวลชนของคสช. แต่จากคำสั่ง 138 ฉบับหรือคิดเป็นสัปดาห์ละฉบับ ยังแทบไม่เห็นเรื่องไหนประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาต่างๆ คนที่ถูกใช้เองก็กลับรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม 

แน่นอนว่าคำสั่งนี้ถูกใจและสะใจบรรดากองเชียร์เผด็จการ แต่ถามว่ามันแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายได้น่าสนใจ การใช้อำนาจจากมาตรา 44 อาจจะสำเร็จในมุมของผู้ครองอำนาจ เพราะมันเร็ว ง่าย และทำได้เลย จับได้เลย สั่งการแล้วย้ายได้ทันที แต่การใช้อำนาจแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาได้จริง

ตัวอย่างที่เห็นภาพอย่างเรื่องการใช้กับกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็นำไปสู่การทวงคืนพื้นที่ มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ หรือการไปจับคนเพราะออกมาแสดงความคิดเห็น ออกมาชุมนุมในเรื่องต่างๆ สิ่งเหล่านี้อาจได้ประโยชน์กับฝ่ายรัฐ แต่ในมุมกลับกัน กลับยิ่งเป็นการสั่งสมปัญหา และคนจะยิ่งเรียนรู้การใช้อำนาจลักษณะนี้ว่าเกินขอบเขตและไม่มีความเป็นธรรม และประชาชนไม่ได้มีพื้นที่ ไม่ได้มีเสรีภาพ และไม่ได้มีส่วนร่วมกับการใช้อำนาจแบบนี้

ความจริงเรื่องมาตรา 44 มันคงไม่ได้มีแค่การดำเนินการอย่างที่เราเห็น แต่เป้าหมายหลักของมัน พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักสิทธิมนุษยชน มองว่าคือความพยายามออกแบบระบบโครงสร้างของเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของไทย ให้เป็นแบบที่เขาต้องการ แต่คนที่จะได้รับผลกระทบในอีก 20 ปีข้างหน้ากับการออกแบบประเทศที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนี้ ไม่ใช่คนที่ออกกฎหมายหรือคำสั่งพวกนี้ แต่คือคนที่ยังไม่ได้แก่มาก เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะต้องอยู่กับประเทศนี้ต่อไป นี่ต่างหากคือสิ่งที่มีค่ามากกว่าคำว่าเสรีภาพทางวิชาการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลพยายามจะอธิบายและปกป้องผู้มีอำนาจ

Back to top button