‘รพี’ กับ ก.ล.ต.

2 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ มีโอกาสไปร่วมงาน CSR กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.


ธนะชัย ณ นคร

 

2 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ มีโอกาสไปร่วมงาน CSR กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

เป็นการไปช่วยงานกับทางป่าไม้เขาสร้าง “ฝายชะลอน้ำ” ครับ

พื้นที่อยู่บริเวณเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี

ข่าวว่าคุณรพี สุจริตกุล เลขา ก.ล.ต.เป็นเจ้าของความคิดนี้

หลังจากนั้นทีมงาน ก.ล.ต. ก็ไปเสาะหาสถานที่ กระทั่งมายังเขาพะเนินทุ่งนั่นแหละ

คุณรพี ในวัย 56 ปี ดูยังแข็งแรงนะ

ถือจอบขุดดิน (ที่มีทั้งรากไม้ และหิน) ไม่มีเหน็ดเหนื่อย

ประมาณเวลาคร่าวๆ น่าจะขุดดิน และขนหินอยู่นับชั่วโมงน่าจะได้ หรือบวก/ลบ จากเวลานี้เล็กน้อย

มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 1 ฝาย

ขนาดของฝายสูงกว่าหัวเข่าเล็กน้อย และยาวประมาณ 3-4 เมตร

หลังสร้างเสร็จ ดูเหมือนคุณรพี จะมองด้วยความภูมิใจ

สร้างฝาย (ชะลอน้ำ) สร้างชีวิต…..

ในเดือนพฤษภาคม 2560 คุณรพี ก็จะอยู่ในตำแหน่งครบ 2 ปี และจะอยู่ในตำแหน่งครบ 4 ปี ก็น่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม 2562

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามคุณรพีว่า จะนั่งในตำแหน่งเลขา ก.ล.ต.ต่อหรือไม่

หรือหากได้นั่งต่อ วาระต่อไปก็จะอยู่ได้เพียง 2 ปี เท่านั้น เพราะเขาห้ามนั่งในตำแหน่งเกินอายุ 60 ปี

ในช่วง 1 ปี 10 เดือน ของคุณรพี กับบทบาทหน้าที่ใน ก.ล.ต.ถูกกล่าวถึงอย่างมาก

โดยเฉพาะเรื่องของร่างแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2559

หลายมาตรามีความเข้มงวดขึ้น

งานซีเอสอาร์ในวันนั้น มีโอกาสได้นั่งคุยแบบสบายๆ กับผู้บริหาร ก.ล.ต.หลายๆ คน

รวมถึงคุณรพี

สิ่งที่เห็น หรือสัมผัสได้ว่าเกิดการ “เปลี่ยนแปลง” กับผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต.คือ หลายๆ คน ดูสบายๆ และรีแล็กซ์มากขึ้น

ปกติแล้วบุคลากรที่อยู่ในหน่วยงานกำกับดูแล หรือ เรกูเลเตอร์ จะดูแข็งๆ สักหน่อย

ผมคุยเรื่องนี้กับ คุณปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร ก.ล.ต.

เขาถามผมกลับว่า ดูรู้สึกว่าเปลี่ยนไปหรือเปล่า

ก็เลยตอบกลับไปว่า “ใช่”

เลยมีคำอธิบายจากคุณปริย ต่อว่า ก.ล.ต.อยู่ในระหว่างการปรับ “วัฒนธรรมองค์กร” ใหม่

ทว่าเรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาบ้าง

ผู้บริหารระดับสูงบางคน อาจยังไม่เข้าใจ ก็ต้องค่อย “ดึง” เข้ามา สร้างความเข้าใจ

ผมเลยบอกเป็นเชิงตั้งคำถามกลับไปว่า กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น หากผู้บริหารยังมีท่าทางหรือบุคลิกแข็งๆ ก็อาจทำให้บรรยากาศยิ่งดู “ตึงเครียด”

ดูเหมือนคุณปริย จะยอมรับ

เขาบอกด้วยว่านโยบายคุณรพี เกี่ยวกับงานในออฟฟิศนั้น จะลดการใช้กระดาษ

เวลาเข้าประชุม หากเป็นไปได้ ก็จะไม่มีการใช้กระดาษ

แต่ละคนจะต้องมี “จอ” เป็นของตนเอง และหากมีข้อมูลอะไรก็จะส่งผลในจอไป

คุณรพี จะมีการพูดคุย หรือเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้พนักงานฟังผ่านโซเชียลภายในของ ก.ล.ต. เพื่อให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่า ก.ล.ต.กำลังทำอะไร และเดินไปในทิศทางใด

ก่อนหน้าจะคุยกับคุณปริย ได้มีการถามเรื่องพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขใหม่กับคุณรพี

คำตอบคือ ตอนนี้ยังคงอยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับผู้บริหาร บจ. และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

ผมวกกลับมาถามเรื่องนี้กับคุณปริย

โดยเฉพาะเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

เขาก็ยอมรับว่า ร่างฯ แก้ไขฉบับนี้ ครอบคลุมทุกบุคล และรวมถึงสื่อด้วย

ผมเลยถามต่อว่า หากรัฐบาล หรือหน่วยงานราชการ เป็นฝ่ายที่ให้ข่าวล่ะ เช่น บจ.แห่งนั้นๆ ได้งานสัมปทานจากภาครัฐ แบบนี้จะผิดไหม

แล้วสื่อล่ะต้องทำอย่างไร

คุณปริย นิ่งไปนิดหนึ่ง ก่อนจะบอกว่า ก็คงต้องขอความร่วมมือจากสื่อในการนำเสนอข้อมูล

ผ่านมาถึงตรงนี้เลยมองว่า คุณรพี และก.ล.ต. อาจมองว่า “เป้าหมาย” คือสิ่งที่สำคัญสุด

ส่วนอุปสรรคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง และต้องผ่านไปให้ได้

บทบาทของสื่อมวลชนก็เช่นกัน

 

 

Back to top button