IRPC สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

คงต้องย้ำอีกครั้งว่า หากมีใครบางคนบอกว่า นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC โชคดีอย่างเดียว ไม่เพียงแต่ไม่ให้อภัยแล้ว สมควรเรียกทหารให้จับไปปรับทัศนคติใหม่กับ คสช.ได้เลย


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

คงต้องย้ำอีกครั้งว่า หากมีใครบางคนบอกว่า นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC โชคดีอย่างเดียว ไม่เพียงแต่ไม่ให้อภัยแล้ว สมควรเรียกทหารให้จับไปปรับทัศนคติใหม่กับ คสช.ได้เลย

เหตุผลเป็นเพราะ นายสุกฤตย์ เป็นมากกว่าวิศวกร  หรือ นักบริหารธรรมดา แต่เป็นนักฝัน ที่สามารถทำให้ความฝันแปลเป็นจริงได้ แม้ว่า อาจะมีใครปรามาสล่วงหน้าว่า “ฟุ้ง” ตามประสาคนสติเฟื่อง ที่อาจจะกินยาผิดซองบ่อยๆ

สิ่งที่นายสุกฤตย์และทีมผู้บริหารลงมือกระทำกับ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด หรือ Delta” และ “โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือ UHV” ภายใต้กรอบลงทุนตามโครงการฟีนิกส์ซึ่งดูจากภายนอกอาจจะเข้าใจว่าเขียนขึ้นมาให้โก้ๆ เข้าไว้ แต่คนที่เคยอ่านตำราบริหารเกี่ยวกับ Toyota Way ของค่ายรถยนต์โตโยต้า และ Six Sigma ของ GE ในยุคของแจ็กเวลช์ อันโด่งดัง จะเข้าใจว่าปฏิบัติการเชิงลึกของสุกฤตย์และทีมงาน สำคัญแค่ไหน

จังหวะของการริเริ่มโครงงานเร่งประสิทธิภาพดังกล่าว เกิดขึ้นหลงัจากที่  IRPC สามารถก้าวผ่านขวากหนามมาสารพัดหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ในการรักษาบาดแผลเรื้อรังยาวนานในช่วง “เปลี่ยนผ่านสำคัญ” ถึงขั้นต้องใช้เวลาเปลี่ยนผู้บริหารมาไม่น้อยกว่า 5 คน ที่ล้วนเคยเผชิญวิบากกรรมขึ้นศาลกับตระกูลเลี่ยวไพรัตน์โชกโชน  และผ่านการระดมความคิดผ่าทางตันสารพัดแบบลองผิดลองถูก

นายสุกฤตย์ ถือว่าเป็นผู้บริหารที่…เก่ง และ เฮง… เข้ามารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่ไม่ต้องแบกรับภารกิจซับซ้อนมากมายเหมือนผู้บริหารคนก่อนๆ หน้า แต่บทบาทในการ “สร้างสถานการณ์เสกปั้นวีรบุบุรุษ”ของเขานั้น ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เหนือธรรมดา….ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้

ผลลัพธ์รูปธรรมของโครงการทั้งสองคือ ทำให้ IRPC ลบปมด้อยเรื่อง “ความสามารถในการแข่งขันต่ำ” ที่เคยถือเป็น “จุดตำหนิเรื้อรัง” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้อยกว่าหลายๆ บริษัทที่อยู่ในครอบครัว ปตท.

ความสำเร็จดังกล่าว สะท้อนออกมาในผลประกอบการ ซึ่งไปเข้าสูตรสำเร็จ let profit run เพราะนักลงทุนจะได้เห็น IRPC ไม่ต้องพึ่งตัวเลข “กำไรพิเศษ” มาอุดงบสิ้นงวดซ้ำซากอีก เพราะจะมี “กำไรจากการดำเนินงาน” โชว์เนื้อๆ

จากความสำเร็จ 2 โครงการแรก ตามมาด้วยปฏิบัติการ ตีเหล็กเมื่อร้อน”  ด้วยการนำเสนอโครงการเอเวอเรสต์ (Everest Programme) เพิ่มอีก โดยเน้นเป้าหมาย “Delta เน้นระบบ Everest เน้นคน”

เป้าหมายบั้นปลายเพื่อ “เพิ่มจิม (GIM) ให้ใหญ่ขึ้น”…5555

ผลข้างเคียงต่อมาหนีไม่พ้นราคาหุ้น IRPC ที่เคยเป็นหุ้นนอกสายตา และนอกจอเรดาร์ของนักลงทุนมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ (แถมบางปียังมีขาดทุนโผล่มาให้เห็นเป็นปรากฏการณ์ที่ทำเอาขวัญหนีดีฝ่อ) เป็นหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติเมินมายาวนาน จะเป็นหุ้นพิมพ์นิยมก็เฉพาะรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งทำให้ราคาไปไหนไม่เป็น

วันนี้ ไม่มีอีกแล้วที่จะได้เห็นราคาหุ้นบริษัทปิโตรเคมีคัลใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ราคามีกรอบวิ่งแคบๆ ระหว่าง 2.50-4.50 บาท …แถมบางครั้งต่ำกว่าบุ๊ค…. เพราะราคาเหนือ 5.00 บาท กลายเป็น “หลักหมุดใหม่

ความสำเร็จดังกล่าว น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการสร้างตำนานหน้าใหม่ของนายสุกฤตย์…แต่ไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวล่าสุด

สุกฤตย์เสียอย่าง…ความฝันไม่มีขีดจำกัด…ฝันให้ไกล แต่จะไปถึงหรือไม่ อยู่ที่อนาคต

คำกล่าวถึงความฝันครั้งใหม่ของนายสุกฤตย์ในการประชุมสามัญของ IRPC วานนี้  อยู่ที่ว่า กำลังเตรียมเสนอโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในช่วงกลางปีนี้ คือโครงการ Beyond Everest คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญ หรือราว 4 หมื่นล้านบาท  หลังจากนั้นจะมีการเสนอแผนงานภายใต้โครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการอีกครั้งในไตรมาส 3/60 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการทั้งโครงการประมาณ 4-5 ปี

แผนงานหลัก Beyond Everest คือ การเพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีน (PX) อีก 9 แสนตัน/ปี และ เพิ่มกำลังการผลิตโพลีเอทิลีน (P/E) อีกจำนวน 1.8 แสนตัน/ปี 

แม้จะยังเป็นแค่ความฝัน แต่ก็ท้าทายยิ่งนักว่า จะสามารถขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไรกัน

หากทำได้สำเร็จตามเจตนา ก็ถือว่าหลักหมุดใหม่ที่กว้างและไกลกว่าเดิมถูกกำหนดขึ้นอีกครั้ง

คิดถึงเพลง Impossible Dream…และดอน กิโฮเต้ ….แห่งละครเพลงชื่อดัง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ขึ้นมาในทันที

เพียงแต่งานนี้ ไม่รู้ว่า ใครจะเป็น ซานโช ปานซ่า เท่านั้น

รู้แค่ว่า ไม่ใช่…สมรักษ์ คำสิงห์…ก็พอ

Back to top button