ทางใครทางมัน

สถานการณ์ของตลาดเก็งกำไรที่สวนทางกันไปมาจนหาความสัมพันธ์ได้ยากลำบากยังคงดำรงอยู่ต่อไป เมื่อวานนี้ ดังเห็นได้จากตัวแปรของดัชนีในตลาดต่างๆ ที่ไปคนละทิศคนละทาง


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

สถานการณ์ของตลาดเก็งกำไรที่สวนทางกันไปมาจนหาความสัมพันธ์ได้ยากลำบากยังคงดำรงอยู่ต่อไป เมื่อวานนี้ ดังเห็นได้จากตัวแปรของดัชนีในตลาดต่างๆ ที่ไปคนละทิศคนละทาง

ตลาดหุ้นเปิดช่วงเช้าในแดนบวก ก่อนจะย่อตัวลงมาในแดนลบ และเหวี่ยงสลับกับแดนบวกไปมา ก่อนที่จะปิดท้ายตลาดในแดนลบเล็กน้อย โดยยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ 426 ล้านบาท เสมือนไม่ใส่ใจกับค่าเงินบาทที่ยังแข็งเหนือ 34.00 บาทต่อดอลลาร์เล็กน้อย

ส่วนที่ตลาดตราสารหนี้ กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติวันนี้ไหลเข้าสุทธิมากถึง 3,730 ล้านบาท ซ่งสะท้อนข้อเท็จจริงที่ชัดเจนคือ การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ต่างชาติเข้ามาในไทยรอบนี้ มุ่งเป้าไปที่ตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก โดยเฉพาะตราสารหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องนี้ ได้รับการเปิดเผยเชิงยอมรับจาก นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ที่ระบุว่า  แรงจูงใจของการนำเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรในระยะสั้นๆ ซึ่งแหล่งหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรในระยะสั้น คือ พันธบัตร ธปท. เป็นสาเหตุที่ทำให้ เกิดปรากฏการณ์เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็วในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม

นายเมธี กล่าวว่า ทางออกจากปัญหาดังกล่าวในเฉพาะหน้าคือ ธปท.จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อลดแรงจูงใจของการนำเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรในระยะสั้นๆ โดยพยายามลดปริมาณการออกพันธบัตร ธปท.อายุต่ำกว่า 1 ปี เพื่อลดช่องทางที่นักลงทุนต่างชาติจะนำเงินมาลงทุนระยะสั้นๆ ในประเทศไทย ส่งผลให้ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท.อายุต่ำกว่า 1 ปีทยอยปรับลดลง โดยเฉพาะสำหรับเดือนมิถุนายน ที่จะถึงนี้ยังคงมีการลดยอดคงค้างพันธบัตรดังกล่าว เพราะแม้ปริมาณการออกใหม่จะคงไว้เท่ากับ 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ปริมาณการออกใหม่จะต่ำกว่าปริมาณที่ครบกำหนดไถ่ถอน

คำอธิบายของนายเมธี ค่อนข้างมีลักษณะ “แผ่นเสียงคนละร่อง” กับคำอธิบายในแนวทางของนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. ที่ออกมาแก้ต่างเรื่องการขาดทุนเพราะค่าบาทแข็งจนเข้าส่วนทุน ธปท. ติดลบ (ที่ถือว่าเข้าขั้นล้มละลาย) ว่า ความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก การเลือกตั้งในหลายๆ ประเทศที่เปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของนักลงทุนต่อการลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศเกิดใหม่รวมทั้งไทย ในปริมาณที่สูงเป็นระยะๆ ทำให้ ธปท.จึงได้เข้าไปดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดเงินตราต่างประเทศของไทยที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้ามาในบางช่วงอย่างรวดเร็วและในปริมาณที่สูง

แม้นางจันทวรรณจะเลี่ยงไม่พูดถึงคำประเภท “ขาดทุน” และ “ส่วนทุนติดลบ” แต่ก็ยอมรับว่าการกระทำดังกล่าว ทำให้ ธปท. มี “ค่าใช้จ่าย” ในการดูดซับสภาพคล่องที่ ธปท. ปล่อยเข้าสู่ระบบจากการซื้อเงินตราต่างประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็น “ต้นทุน” ในการรักษาเสถียรภาพตลาดเงินในประเทศ ที่ส่งผลต่อฐานะการเงินของ ธปท. โดยแนวทางลดการ “ขาดทุน” ที่วางเอาไว้ มี 3 แนวทางคือ

-ส่งเสริมให้กลไกตลาดสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น 

-ให้เอกชนไทยมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

-ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการนำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสมดุลของเงินทุนไหลเข้าออก โดยเฉพาะการลงทุนของธุรกิจในต่างประเทศ และการให้กองทุนรวมและผู้ลงทุนที่มีความพร้อมสามารถลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยในการบริหารเงินออมของคนไทยให้มีการกระจายตัวได้ดีขึ้นด้วย 

แนวทางทั้งสามที่นางจันทวรรณระบุ (ซึ่งไปคนละทางกับนายเมธี เสมือนอยู่คนละองค์กร)  นอกเหนือจากไม่มีแนวทางไหนเลยที่จะชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาขาดทุนในการแทรกแซงค่าบาทแข็งจากฟันด์โฟลว์ต่างชาติ จะกระเตื้องขึ้นแล้ว ก็ยังไม่ได้ชี้ให้เห็นเลยว่า เครื่องมือที่ ธปท.มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถหยุดยั้งการไหลบ่าเข้ามาของฟันด์โฟลว์จากทุนลี้ภัยหรือเก็งกำไรข้ามชาติได้แต่อย่างใด

ตราบใดที่ผู้บริหารของ ธปท. ยังคงมีคำอธิบายเชิงกลยุทธ์แบบ “ทางใครทางมัน” เช่นนี้ก็ชี้ชัดว่า ภาวการณ์ขาดทุนของ ธปท.จากการที่บาทแข็งค่า และกำไรเพราะบาทอ่อนค่า จะยังเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นปกติของธปท.ต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่แนวนโยบายการเงินที่ผสมกันระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และนโยบายบริหารกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ยังเป็น 2 เสาหลักของธปท.ต่อไป

ข้อดีอย่างเดียวของการเปิดเผยจุดอ่อนเปราะของธปท.ในฐานะธนาคารกลางของประเทศไทย อยู่ที่ว่า คนไทยคงจะหวังพึ่งพาเครื่องไม้เครื่องมือหรือแนวทางการบริหารจัดการนโยบายการเงินของ ธปท.ได้ยากอย่างยิ่ง หรือ ไม่ได้เลย

ข้ออ้างง่ายๆ ที่ว่า “สภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย” ง่ายและหยาบสำหรับการแก้ต่างใดๆ

ยิ่งช่วงนี้ กระทรวงการคลังก็ขยันอย่างยิ่งในการให้ข่าวเชิงบวกว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยบวกทั้งจากการส่งออก-ท่องเที่ยว-รายได้เกษตรหนุนอย่างต่อเนื่อง (แม้ลงทุนภาคเอกชนยังไม่ชัด) และมูลค่าการนำเข้าก็เริ่มขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันทั้งจากกลุ่มสินค้า วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เชื้อเพลิง สินค้าทุน และทองคำ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็ไม่สอดรับกับข้อมูลของผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ที่ยังคงคาดการณ์ส่งออกปีนี้โต 3.5% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งส่งผลต่อผู้ส่งออก ทั้งในด้านของต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขัน แม้ว่าจะได้รับผลพวงเชิงบวกจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหลายรายการ

ข้อมูลที่ขัดแย้งกันที่เกิดจากทั้ง “แนวคิด” และ “วาระซ่อนเร้น” ของหน่วยงานที่กำกับดูแลตัวเลขด้านเศรษฐกิจสำคัญระดับประเทศเช่นนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นทั้งแรงกดดัน และ “กระจกเงา” ที่ชี้อนาคตอันหมิ่นเหม่ของเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นไทยได้ดีพอสมควร

อยู่ที่ว่าใครจะถอดรหัสตัวเลขได้เก่งกว่าและแม่นยำกว่าเท่านั้นเอง

 

Back to top button