พาราสาวะถีอรชุน
วันวานมีข่าวเรื่องสหรัฐอเมริกาประกาศเลื่อนประชุมการฝึกคอบร้าโกลด์กับประเทศไทยไปไม่มีกำหนด ล่าสุด “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายืนยัน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะมีการเลื่อนในลักษณะเช่นนี้เป็นประจำ โดยทางสหรัฐทำหนังสือมาแล้วบอกขยับเวลาจากเดือนมีนาคมไปเป็นเดือนมิถุนายนนี้
วันวานมีข่าวเรื่องสหรัฐอเมริกาประกาศเลื่อนประชุมการฝึกคอบร้าโกลด์กับประเทศไทยไปไม่มีกำหนด ล่าสุด “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายืนยัน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะมีการเลื่อนในลักษณะเช่นนี้เป็นประจำ โดยทางสหรัฐทำหนังสือมาแล้วบอกขยับเวลาจากเดือนมีนาคมไปเป็นเดือนมิถุนายนนี้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็คงอย่างที่ท่านว่า การเลื่อนหนนี้ไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง โดยเฉพาะความไม่พอใจของพี่เบิ้มที่ไทยแลนด์หันไปขยายความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียเพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ควรประมาท ยิ่งมีข่าวว่าเราจะหันไปซื้ออาวุธจากรัสเซียด้วยแล้ว สหรัฐย่อมไม่ปล่อยผ่านประเด็นเช่นนี้แน่นอน
อธิบายเรื่องคอบร้าโกลด์ให้กระจ่างแต่ก็มีเรื่องหนักใจให้บิ๊กป้อมต้องกุมขมับต่อ กับข่าวสหภาพยุโรปหรืออียู ขีดเส้นตายให้ไทยจัดการปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยูภายใน 6 เดือน โดยอียูยืนยันการกระทำดังกล่าวทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชนชาวประมง หากทำไม่สำเร็จจะเจอคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทยในกลุ่มประเทศอียูภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน
เจอไม้นี้เข้าไปบิ๊กป้อมจึงต้องรีบชี้แจงเตรียมออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาแก้ไขปัญหาตามที่อียูต้องการทันที เพียงแต่ต้องรอดูรายละเอียดจากอียูก่อนว่าสิ่งที่กังวลและไม่พอใจนั้นมีเรื่องใดบ้าง ปมตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติก็ได้แสดงความกังวลต่อกรณีนี้เช่นกัน
เนื่องจากหากอียูตัดการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย จะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกมากขึ้น เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าประมงไปยังอียูประมาณ 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทั่วโลกของไทย 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอียูเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบกับสินค้าประมงแปรรูป ซึ่งส่งออกไปยังอียู 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงแปรรูปทั้งหมด 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถือเป็นมาตรการจากต่างชาติที่รัฐบาลไทยจะต้องระมัดระวัง แน่นอนว่า ในบางแง่มุมย่อมมีคนนำไปเชื่อมโยงว่าเป็นอีกหนึ่งการกดดันที่แสดงออกถึงความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลจากการรัฐประหาร แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจคงปฏิเสธแน่นอน โดยเฉพาะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เวลานี้กำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปรวมประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา ที่อินโดนีเซีย
บิ๊กตู่ได้ย้ำมาตลอดว่าตั้งแต่รับตำแหน่งผู้บริหารประเทศ เดินทางไปประเทศไหนก็มีแต่การยอมรับ ซึ่งก็คงจะเถียงท่านไม่ได้ เพียงแต่ว่า การต้อนรับขับสู้นั้น ต้องมองด้วยว่าเป็นไปตามมารยาทหรือเต็มใจเต็มที่ ยกตัวอย่างซ้ำคราวเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่เขาเชิญมาแท้ๆ แต่ก็ไม่วายทวงถามแบบไม่ไว้หน้าว่า เมื่อไหร่จะมีการเลือกตั้ง
ทั้งหมดคงขึ้นอยู่กับการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เวลานี้อยู่ในระหว่างการอภิปรายร่างแรกของสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสปช. โดยตั้งแต่เมื่อวานและน่าจะลากยาวไปถึงวันพฤหัสบดีนี้ จะเป็นการอภิปรายในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี ปมหลักหนีไม่พ้นที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ระบบและวิธีการเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนผสม
ขณะที่ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ชี้จุดเสี่ยงของร่างรัฐธรรมนูญ อย่างแรกคือ การขาดความสมดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมีอำนาจในการเสนอกฎหมายมากกว่าฝ่ายนิติบัญญัติเนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายสำคัญ ซึ่งอาจเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตได้อีกครั้งหากมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม
จุดเสี่ยงต่อมาคือ การออกแบบการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลผสม ต้องการให้มีรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็งเกินไปจะมีปัญหา เพราะรัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นก่อนปี 2540 เป็นความเลวร้ายของสังคมไทย เป็นรัฐบาลผสมที่ทำให้การเมืองไทยตกอยู่ในหลุมดำไม่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งหากเกิดรัฐบาลผสมที่มีพรรคแกนนำมีเสียงเกินครึ่งเล็กน้อยและมีพรรคเล็กมาร่วมผสม พรรคแกนนำก็จะมีอำนาจต่อรองมากกว่าพรรคร่วม
แต่หากไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่งพรรคเล็กก็จะมีอำนาจต่อรอง จัดตั้งรัฐบาลแบบแบ่งโควตา พรรคแกนนำก็จะไม่มีนโยบายที่มีเอกภาพ รัฐบาลผสมจึงเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ โดยที่สมบัติตั้งข้อสังเกตว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจวิเคราะห์โจทย์และการแก้ปัญหาเรื่องรัฐบาลที่เข้มแข็งไม่ถูกต้อง
ส่วนการที่ร่างรัฐธรรมนูญสามารถให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้ผู้ที่มาใช้อำนาจบริหาร ไม่มีส่วนใดเชื่อมโยงกับประชาชน จึงอยากให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะอาจจะขัดกับหลักการที่ให้พลเมืองเป็นใหญ่ โดยเสนอทางออกให้นำเงื่อนไขนายกรัฐมนตรีคนนอกไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลแทน
ตั้งแต่มีการอภิปรายมาน่าจะเป็นเนื้อเป็นหนังมากที่สุด เช่นเดียวกันกับ เสรี สุวรรณภานนท์ ที่ออกมาค้านการให้กลุ่มการเมืองลงสมัครส.ส.ได้ เพราะอาจทำให้กลุ่มการเมืองอย่างนปช.และกปปส.สามารถส่งตัวแทนมารับเลือกตั้งได้ ต่อไปการเลือกตั้งพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ อาจหมดความหมาย และจะสร้างความแตกแยกขึ้นมาอีก
ก่อนที่จะตบท้ายแบบประชดประชันว่า ท้ายที่สุดคนอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ อาจจะมีโอกาสได้เป็นนายกฯ ก็ได้ นั่นไม่ใช่สาระ สิ่งสำคัญที่ทั้งเสรีและสมบัติมองตรงกันคือ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจจะไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ เอาละวา ถ้าเดินมาผิดทางอย่างว่าจริง บ้านเมืองมันจะไม่ยุ่งอีนุงตุงนังไปกันใหญ่เลยหรือ นี่คือโจทย์สำคัญที่หัวหน้าคสช.อาจต้องรีบทบทวนโดยด่วน