พาราสาวะถีอรชุน

ย้ำเตือนกันมาโดยตลอดเรื่องการสร้างความปรองดองจะต้องมีความยุติธรรม หากทำสิ่งนี้ไม่ได้ก็อย่าหวังว่าจะปฏิรูปอะไรสำเร็จ ทีนี้จึงมีคำถามตามมาว่าแล้วความเป็นธรรมที่พูดถึงนั้น ต้องออกมาในรูปแบบใด สืบค้นเพื่อหาคำตอบอยู่นาน เพิ่งมาเห็นบทความของ เอกสิทธิ์ หนุนภักดี ในหัวข้อ ความเป็นธรรมในรัฐธรรมนูญ มีแง่มุมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


ย้ำเตือนกันมาโดยตลอดเรื่องการสร้างความปรองดองจะต้องมีความยุติธรรม หากทำสิ่งนี้ไม่ได้ก็อย่าหวังว่าจะปฏิรูปอะไรสำเร็จ ทีนี้จึงมีคำถามตามมาว่าแล้วความเป็นธรรมที่พูดถึงนั้น ต้องออกมาในรูปแบบใด สืบค้นเพื่อหาคำตอบอยู่นาน เพิ่งมาเห็นบทความของ เอกสิทธิ์ หนุนภักดี ในหัวข้อ ความเป็นธรรมในรัฐธรรมนูญ มีแง่มุมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

โดยเอกสิทธิ์บอกว่าแม้ความเป็นธรรมจะเป็นนามธรรมที่ถกเถียงกันได้มาก แต่ปราชญ์ของโลกก็ได้วางเกณฑ์เกี่ยวกับความเป็นธรรมไว้อย่างน้อย 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางเรื่องความเป็นธรรมของเพลโต ผ่านบทสนทนาของโสเครตีส แนวทางของเจเรมี่ เบนแธม และแนวทางของจอห์น รอลว์ส

ในบทสนทนาโดยโสเครตีสที่เพลโตเขียนขึ้น โสเครตีสเห็นว่าความเป็นธรรมนั้นควรพิจารณาในระดับรัฐ รัฐในอุดมคติคือรัฐที่มี “พลเมืองที่ดีที่สุด” ใช้ปัญญาบริหารกิจการของรัฐ มีผู้กล้าปกป้องรัฐ และมีผู้ผลิตผลิตสิ่งของจำเป็นให้แก่รัฐ ความเป็นธรรมในรัฐเกิดขึ้นเมื่อพลเมืองต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนตามความถนัดดังที่กล่าวมา

ความเป็นธรรมตามแนวทางของเพลโตนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดตัวพลเมืองที่ดีที่สุด นั่นคือ อะไรคือมาตรวัดความดี สังคมจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนดี และที่สำคัญคือสิ่งที่คนดีแสวงหาและจัดแจงไว้ให้จะสามารถนำความสุขมาให้ประชาชนในสังคมอย่างทั่วถึงได้จริงหรือ นอกจากนี้ แนวทางนี้ยังมีปัญหาในเรื่องความเชื่อว่าคนไม่เท่ากันซึ่งส่งเสริมการปกครองในระบอบเผด็จการและการปฏิบัติต่อคนในสังคมแบบมีลำดับขั้น

ดังนั้น ในทางปฏิบัติจอมเผด็จการมักนิยมอธิบายความเป็นธรรมตามแนวทางนี้ควบคู่ไปกับการโฆษณาชวนเชื่อและการเซ็นเซอร์ เมื่อความเป็นธรรมที่เรียกร้องให้คนดี เป็นผู้เขียนกฎหมายมีปัญหาในทางปฏิบัติ เบนแธมจึงเสนอความเป็นธรรมอย่างเป็นรูปธรรมที่นำไปปฏิบัติได้ โดยเขาเสนอว่ากฎหมายที่เป็นธรรมนั้นควรเป็นกฎหมายที่มุ่งประโยชน์สูงสุดแก่พลเมืองส่วนใหญ่

เบนแธมเห็นว่าคุณค่าที่รัฐควรแสวงหานั้นเป็นสิ่งที่พลเมืองจะต้องเป็นผู้กำหนดด้วยตนเอง รัฐที่เป็นธรรมควรจะสะท้อนทางเลือกของพลเมืองทั้งเชิงสุนทรียะ เศรษฐกิจและจริยธรรม และวิธีการที่ดีที่สุดที่จะได้กฎหมายที่สะท้อนความต้องการของพลเมืองก็คือการเลือกตั้งทั่วไป กฎหมายที่เป็นธรรมตามแนวทางนี้มีเงื่อนไขคือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เคารพความเท่าเทียมกันของพลเมือง

แม้ว่าข้อเสนอเรื่องความเป็นธรรมของเบนแธมจะก้าวหน้า มีรูปธรรมปฏิบัติได้จริงมากกว่าของเพลโตแต่ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าคุณค่าที่สังคมยึดถือนั้นสมควรกำหนดตัดสินด้วยประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เท่านั้นหรือ เพราะมีความเป็นไปได้ที่หลักประโยชน์สูงสุดแก่พลเมืองส่วนใหญ่นี้อาจจะบรรลุได้ด้วยการละเมิดสิทธิของคนจำนวนน้อย

ด้วยเหตุนี้จอห์น รอลว์ส ผู้เขียนหนังสือชื่อทฤษฎีความยุติธรรม จึงเสนอหลักการพื้นฐานของความเป็นธรรม 2 ประการ ประกอบด้วย บุคคลจะต้องได้รับเสรีภาพพื้นฐานที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน และความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจที่หากจะมีขึ้นนั้นสามารถยอมรับได้ในกรณีที่ ประโยชน์สูงสุดตกเป็นของผู้ที่เสียเปรียบมากที่สุดในสังคม และตำแหน่งของอำนาจและความมั่งคั่งเปิดกว้างแก่ผู้ที่สามารถทุกคน

สังคมที่เป็นธรรมในทัศนะของรอลว์สคือ สังคมที่ผู้ที่ด้อยโอกาสที่สุดในสังคมนั้นๆ ต้องสามารถมีชีวิตที่ดีตามที่ตนเองปรารถนาได้ สังคมเช่นนี้จะบรรลุได้ด้วยกฎหมายที่สามารถประกันได้ว่าพลเมืองทุกคนสามารถแสวงหาเป้าหมายของตนเองและไม่มีพลเมืองกลุ่มใดตกเป็นเหยื่อของพลเมืองกลุ่มอื่น ซึ่งรอลว์สได้ให้แนวทางในการเขียนกฎหมายดังกล่าวไว้ว่า จะต้องเป็นการตรากฎหมายที่ผู้ร่างนั้นจะต้องไม่คำนึงถึงฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ หรือคุณลักษณะเฉพาะเจาะจงของผู้ร่างหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

กล่าวโดยสั้น ความยุติธรรมแบบเพลโตกลัวคนดี ไม่ได้ปกครอง ความยุติธรรมแบบเบนแธมกลัวคนดี ยึดรัฐหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง และความยุติธรรมแบบรอลว์สกลัวทั้งคนดีและผู้แทนประชาชน กดขี่ขูดรีดผู้ด้อยโอกาส ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาบ่งบอกว่าทั้งรัฐบาลคนดีหรือรัฐบาลประชานิยม ต่างกดขี่รังแกผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้ทั้งสิ้น

การที่คสช.จะปฏิรูปการเมืองไทยด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ย่อมแสดงว่า คสช.เองทราบดีว่ารัฐธรรมนูญนั้นสัมพันธ์โดยตรงต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและวิกฤตทางการเมือง เช่นนี้แล้วการร่างรัฐธรรมนูญด้วยจุดยืนและกระบวนทัศน์แบบเดิม ย่อมได้ผลผลิตเป็นรัฐธรรมนูญที่มีแก่นกลางเหมือนที่ผ่านมาในหน้าตาใหม่ ซึ่งก็อาจช่วยปกปิดชะลอปัญหาจากฐานรากไว้ระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าโครงสร้างใหม่อันเปราะบางนั้นไม่สามารถรองรับปัญหาที่แท้จริงได้และพังทลายลงมาอีกรอบ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ทางเลือกใหม่และทางออกของปัญหาการเมืองไทยที่ยั่งยืนกว่าคือ การยึดฐานความเป็นธรรมชนิดใหม่หรืออย่างน้อยควรจะเพิ่มเติมฐานความเป็นธรรมอื่นเข้าไปในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้พลเมืองมีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ลดการจำกัดเสรีภาพทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญที่ขยายพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างขวางครอบคลุมคนทุกหมู่เหล่า

การที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ถูกร่างขึ้นในช่วงเวลาที่มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลบางกลุ่มอย่างเข้มข้น ซึ่งส่งผลโดยอัตโนมัติให้บุคคลบางกลุ่มมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าอย่างล้นเหลือ เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่พยายามกำหนดให้คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าหรือกีดกันคนอีกกลุ่มหนึ่ง รัฐธรรมนูญตามแนวทางนี้มีโอกาสสูงที่จะเป็นต้นทางแห่งความอยุติธรรมและเป็นความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง

หากจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นธรรม ความเป็นธรรมประเภทเดียวที่พอจะกลืนเข้าไปได้คือ ความเป็นธรรมของผู้ถือปืน หรือ Justice is the interest of the stronger วันนี้ขออนุญาตที่จะไม่เสนอความเห็นอันใด เพราะในบทความชุดนี้น่าจะช่วยอธิบายภาพของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำกันอยู่เวลานี้ว่า มีจุดหมายปลายทางเพื่อสิ่งใด

Back to top button