ผู้นำใหม่โลกาภิวัตน์

รัฐบาลปักกิ่งกำลังแสดงให้ชาวโลกเห็นชัดเจนขึ้นว่า บทบาทในฐานะ “ผู้กำหนดชะตากรรมของอนาคต” ได้ถูกถ่ายโอนมาสู่กำมือของพวกเขามากขึ้นชัดเจน แม้จะยังไม่โดดเด่นถึงขั้น Pax China เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับอาณาจักรขนาดใหญ่ในอดีตอย่าง Pax Romana, Pax Britanica หรือ Pax Americana


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

รัฐบาลปักกิ่งกำลังแสดงให้ชาวโลกเห็นชัดเจนขึ้นว่า บทบาทในฐานะ “ผู้กำหนดชะตากรรมของอนาคต” ได้ถูกถ่ายโอนมาสู่กำมือของพวกเขามากขึ้นชัดเจน แม้จะยังไม่โดดเด่นถึงขั้น Pax China เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับอาณาจักรขนาดใหญ่ในอดีตอย่าง Pax Romana, Pax Britanica หรือ Pax Americana

ต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพาสหรัฐฯ ถอยหลังลงคลองด้วยคำขวัญทางการเมืองโด่งดัง “นำอเมริกากลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง” ด้วยมาตรการปกป้องทางการค้าและการลงทุนเข้มงวด ผู้นำจีนอย่าง สี จิ้น ผิง ได้ปรากฏตัวแย่งซีนอย่างชัดเจนด้วยการเข้าร่วมการประชุม WEF ที่เมืองดาวอส และประกาศชัดเจนว่า พร้อมเป็นหนึ่งในชาติผู้นำที่จะปกป้องกระแสโลกาภิวัตน์อย่างจริงจัง

ล่าสุดวานนี้ จีนในฐานะเจ้าภาพจัดงานซัมเมอร์ดาวอส ของ WEF ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองต้าเหลียน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยเน้นความสำคัญกับแนวทางเร่งเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก็ได้ส่งนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดว่า จีนมีศักยภาพแข็งแกร่งพอในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ จากอานิสงส์การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น มีเสถียรภาพ และยั่งยืนมากขึ้น จากการปรับปรุงโครงสร้างและประสิทธิภาพ ที่เรียกว่า “ปรับดุลยภาพใหม่” โดยรัฐบาลจีนกำหนดเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนในปีนี้ อยู่ที่ 6.5% ซึ่งต่ำกว่าในอดีต แต่มีสมดุลมากกว่าเดิม

นายหลี่ ถือโอกาสตอกย้ำว่า ทุกประเทศควรปกป้องกระแสโลกาภิวัตน์ เพื่อที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจโลกเติบโตไปพร้อมๆ กัน โดยที่การค้าเสรีควรเป็นพื้นฐานสำหรับการค้าที่เป็นธรรม เพราะการขัดขวางการค้าเสรีจะทำให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าควรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ โดยยึดถือหลักการที่เท่าเทียม ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และการประนีประนอม ตลอดจนการไม่เลือกปฏิบัติ

ท่าทีของผู้นำโลกในเชิงนโยบายเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า จีนได้ก้าวข้ามยุคสงครามอุดมการณ์ในอดีตมาสู่การบริหารทุนระลอกใหม่ เกินกว่าจะหันหลังกลับไปอีกแล้ว ท่าทีดังกล่าว สอดรับกับการพยากรณ์อนาคตของโครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่สำนักบัญชีระดับโลก PWC ได้เคยนำเสนอไปแล้วไม่นานมานี้อย่างชัดเจน

ก้าวย่างของจีนเช่นนี้ เท่ากับยุคสมัยของสหรัฐฯ ที่นำเสนอ ฉันทามติวอชิงตัน มาถึงสหภาพยุโรปที่นำเสนอ  ฉันทามติบรัสเซลส์  กำลังเดินเข้าสู่ทิศทางขาลง เมื่อเทียบกับจีน

ในมุมมองของนักวิจัยแห่ง PWC และ โกลด์แมน แซคส์ มีข้อสรุปว่า  ภายใต้สถานการณ์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน (ยกเว้นมีสงครามใหญ่เกิดขึ้น) จีนมีโอกาสจะเป็นชาติที่ขนาดของเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ไปขาดลอยในช่วงปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 33 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ

  • เศรษฐกิจโลกโดยรวม นับแต่วิกฤตซับไพรม์ ไม่เคยโตเกิน 3.0% และคาดว่าจะดำรงอยู่อีกนานจนถึงทศวรรษหน้าด้วยข้อจำกัดของการบริโภคที่ต่ำกว่าผลผลิต ทำให้ชาติร่ำรวยหัวแถวของโลกที่เรียกว่า G7 (สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี) ไม่อาจมีบทบาทชี้นำในฐานะหัวขบวนขับเคลื่อนความมั่งคั่งของโลกในอนาคตอย่างเบ็ดเสร็จ (กึ่งผูกขาด) ได้อีก เพราะความสามารถในการสะสมทุนและการแข่งขันลดต่ำลง โดยเปรียบเทียบ
  • ตัวแปรขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตจะอยู่ที่ E7 (ตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ 7 ประเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล รัสเซีย เม็กซิโก และตุรกี) ที่เติบโตและมีบทบาทในฐานะตลาดส่งออกและนำเข้าสินค้าหลักของโลก โดยเฉพาะจีนที่จะมีขนาดใหญ่ประมาณ 20% ของโลก โดยชาติ E7  จะมีการนำเข้าเป็นปริมาณมหาศาล ทำให้การค้าโลกคึกคักต่อไป
  • ความไร้เสถียรภาพในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ นำโดย E7 จะเป็นปรากฏการณ์ของทุนนิยมโลกในช่วงเวลาดังกล่าว ที่ G7 และ E7 จะต้องร่วมมือกันอย่างซับซ้อนมากขึ้น
  • ตลาดเงิน-ตลาดทุน จะเคลื่อนตัวเร็วกว่าตลาดภาคการผลิตและบริการที่แท้จริง (แม้ว่าจะมีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มพลังการผลิตใหม่ๆ ตามสถานการณ์) และทุนการเงินจะยังครองโลกเข้มข้นขึ้น ภายใต้กระแสหลักของโลกาภิวัตน์ (ที่ยังคงมีรัฐชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญ) และเทคโนโลยีสีเขียว แต่จีนจะมีบทบาทชี้นำที่โดดเด่นมากขึ้น
  • ระบบโลกในระยะ 30 ปีข้างหน้า จะทำให้การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจนำเหนือโลกระหว่างมหาอำนาจเก่าและใหม่ เกิดการสลับขั้ว (ที่มากกว่า 2 ขั้ว) ไปมา ระหว่าง potential superpowers ทั้งหลายใน G7 และ E7 (ที่มีขนาดของเศรษฐกิจเป็นสัดส่วนมากถึง 70% ของทั้งโลก มีพื้นที่ดิน 1/3 ของโลก และมีจำนวนประชากร 50% ของโลก) พร้อมกับทฤษฎีทางการเมืองใหม่ระหว่างประเทศใหม่ ที่ทำให้กระบวนทัศน์ของอำนาจใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจีนมีความพร้อมมากกว่าชาติอื่นๆ

ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ จะเห็นได้ชัดว่า การออกมาทำตัวเป็นผู้ปกป้องกระแสโลกาภิวัตน์ของจีนในปัจจุบัน จะถือเป็น “วาระหลัก” ของจีนและของโลกโดยปริยาย

หากใช้มุมมองของยุคสงครามอุดมการณ์ จีนกำลังส่งออกแนวทาง  “สากลนิยมใหม่” ที่ไม่ได้ปฏิเสธผลประโยชน์ของแนวคิดชาตินิยมพร้อมกันไป

 

Back to top button