แอนดรูว์ คาร์เนกี้ …แบบไทยๆ

 ธุรกิจผลิตเหล็กเป็นอุตสากรรมแบบแมส ไม่ใช่ธุรกิจเก่าแก่มากมาย เกิดเป็นจริงเมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1850 หรือ 160 ปีเศษมานี้เอง


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ธุรกิจผลิตเหล็กเป็นอุตสากรรมแบบแมส ไม่ใช่ธุรกิจเก่าแก่มากมาย เกิดเป็นจริงเมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1850 หรือ 160 ปีเศษมานี้เอง

ในอดีต อเมริกาคือต้นแบบของการผลิตเหล็ก และมีมหาเศรษฐีแห่งอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเป็นต้นแบบ “เจ้าสัววงการ” ที่เอ่ยถึงต้องมีคนต้องการไปให้ถึงจุดนั้นเสมอคือ แอนดรูว์ คาร์เนกี้

ทั้งที่ยังไม่เคยมีใครทำได้สำเร็จอีกเลย (มีแค่ “เกือบ” เท่านันคือ ลักษมี มิตตาล ชาวอินเดีย)

แอนดรูว์ คาร์เนกี้ สร้างตัวเองจากผู้ลี้ภัยชาวสก๊อต เป็นมหาเศรษฐีอันดับหัวแถวของสหรัฐฯกับการก่อตั้งบริษัทผลิตเหล็ก Carnegie Steel Company ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก ศูนย์ผลิตเหล็กหลักของสหรัฐ แล้วเข้าเทคโอเวอร์ กิจการโรงงานเหล็กอีกหลายแห่งจนกลายเป็นยักษ์โรงเหล็กอันดับหนึ่งของสหรัฐฯและของโลกช่วงก่อน ค.ศ. 1900

จุดแข็งของคาร์เนกี้คือ การพัฒนาความสามารถในการลดต้นทุนค่าขนส่งสินแร่และสินค้าเหล็กที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ก่อนที่นักวิชาการปัจจุบันจะรู้จักคำว่า “ห่วงโซ่อุปทาน” นับร้อยปีเศษ แต่เมื่อถึงปี ค.ศ. 1910 คาร์เนกี้กลับตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการขายกิจการในมือทิ้งทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า ไม่พอใจกับกฎหมายสหภาพแรงงาน แล้วต้องการใช้ความร่ำรวยทำการกุศล

การขายกิจการเหล็กในจังหวะขาขึ้นในราคาสูงสุด ถือเป็นต้นแบบ Exit Strategy ที่คนยุคเดียวกันตามไม่ทัน และทำให้คาร์เนกี้เป็นคนรวยที่สุดในโลกต่อมาอีกหลายทศวรรษ ก่อนถูก ตระกูลร็อกกี้เฟลเลอร์ และ เจ พี มอร์แกน แซงหน้าไป

ต้นแบบจากแอนดรูว์ คาร์เนกี้ หรือ เจ้าสัววงการเหล็ก ไม่เคยปรากฏอีกเลยในโลก แม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตเหล็กจะมีขนาดใหญ่กว่ายุคคาร์เนกี้หลายร้อยเท่า

สำหรับเมืองไทย ในรอบ 50 ปีเศษ นับแต่ประเทศนี้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา มีเจ้าสัวในวงการเหล็กเกิดขึ้น ถึงขั้นพอจะเรียกว่า แอนดรูว์ คาร์เนกี้เมืองไทย ได้ไม่เกิน 6 คน เหตุผลก็อย่างที่ทราบกันดีว่า เพราะความลักลั่นในการพัฒนาธุรกิจนี้ที่ยังขาดขั้นตอน และการสนับสนุนโดยรัฐยังไม่สมประกอบ

 แอนดรูว์ คาร์เนกี้เมืองไทย หรือเจ้าสัววงการเหล็ก จึงเป็นคน “ปิดทองก้นพระ” มากกว่า และชะตากรรมของเจ้าสัววงการเหล็กเกือบทุกราย สวนทางกับต้นแบบอย่างชนิดคนละขั้ว

ลองเอ่ยชื่อมาแต่ละคน จะเข้าใจภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า คนผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจหลายแสนล้านบาท และทำให้เมืองไทยมีกำลังผลิตเหล็ก 25 ล้านตันต่อปี เป็นหนึ่งในเอเชีย (ไม่นับจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ทำไมจึงมีวิบากกรรมเช่นนี้ โดยไม่พูดถึง ความกล้าหาญและตำนานที่สร้างเอาไว้ ซึ่งอาจจะมีตัวเองและคนรอบข้างเท่านั้นคิดจะจำ

– เจ้าสัว เจียม สมประกิจ ผู้สร้างกลุ่มโรงเหล็กกรุงเทพบริการ ผู้สร้างโรงหนังวอร์เนอร์ shopping center แถวถนนสุรศักดิ์ สีลม โรงงานทอผ้า Hantex และธุรกิจอื่นๆอีกมาก พอเกิดวิกฤติเอเชีย 2540 ก็หายออกจากวงการ (และเสียชีวิต) หาคนจำชื่อได้ยาก

– เจ้าสัว สว่าง เลาหทัย (กลุ่มศรีกรุงวัฒนา) ผู้บุกเบิกกลุ่มกรุงเทพผลิตเหล็ก และในเครือกลุ่มเหล็กอีกหลายบริษัท เจอวิกฤติ 2540 เช่นกัน ต้องขายและใช้ทรัพย์สินโกดังริมน้ำเจ้าพระยาไปหลายสิบแปลง ตีทรัพย์สินชำระหนี้ออกไป จนเป็นแค่ตำนาน (และเสียชีวิต)

– เจ้าสัวสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เจ้าของวลี “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” หรือ “หนี้แสนล้านจ่ายชาติหน้า” ผู้สร้างตำนาน โรงเหล็กนครไทยเหล็กเส้น (NTS) และ นครไทย สตริปมิลล์ (NSM) เจอวิกฤติ 2540 จนต้องยินยอมมอบตัว เหลือไว้แต่ตำนาน แม้ยังมีชีวิต ก็ไม่มีมนต์ขลังเหมือนเดิม

– 2 พี่น้องเจ้าสัว ดร.ประภา และ วิทย์ วิริยประไพกิจ ผู้ก่อตั้งกลุ่มสหวิริยา เจอวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ต้องขายที่ดินริมแม่น้ำและโครงการคอนโดริมแม่น้ำที่พระราม 3 และกิจการอย่างอื่นเสียหายมาก เหลือแต่ โรงงาน สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) บางสะพานเป็นตัวหลัก ต่อมาก้าวพลาดพลาดท่าซื้อโรงเหล็กเก่าที่อังกฤษ ภายใน 3 ปี ก็ปิดโรงงานที่อังกฤษ ทำให้ SSI ต้องมอบตัวเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และสองพี่น้อง ดร.ประภา และวิทย์ ก็ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์

-เจ้าสัวคนสุดท้อง สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม G Steel และ GJS แถมมีกลุ่มโรงเหล็กต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปี พ.ศ. 2540 ก็เจอวิกฤติการเงิน โรงงานเกือบสร้างไม่เสร็จ ปี 2551 ก็เจอซ้ำอีกครั้ง ต้องกระเสือกกระสนเอาตัวรอด ตีทรัพย์ทุกอย่างเพื่อชำระหนี้ ไม่ว่าบริษัทก่อสร้าง โรงพยาบาล และที่ดินแปลงต่างๆ ได้ชำระหนี้ค้ำประกันเป็นหมื่นล้าน ถือคติ “ไม่มี แต่ต้องจ่ายหนี้ทุกบาททุกสตางค์” โดยที่เจ้าหนี้อดทน ก็ไม่เคยฟ้องร้องเลย

เรื่องเหล่านี้ มีคำถามว่า เบื้องหลังอุตสาหกรรมใหญ่ที่เป็นฐานรากของเศรษฐกิจประเทศ จำเป็นต้องมี และรักษาเอาไว้ แต่ชะตากรรมของผู้เล่นในภาคธุรกิจนับวันถูกเงื่อนกดดันให้องยอมรับ Exit Strategy แบบหมดสภาพ เพราะหนี้สินและปัญหาการเงิน ทั้งที่ทำงานอย่างหนัก และไม่เคยเรียกร้องอะไรเกินเลย สมควรหรือไม่

แม้เราคงยากคาดหวังจะให้ รัฐบาลไทยออกโรงนำหน้าช่วยอุตสาหกรรมเหล็ก เหมือนดังที่รัฐบาลอเมริกายุคทรัมป์ อินเดียยุคโมดี้ และจีนยุคหลี่ เค่อ เฉียง หรือยูโรโซน ดำเนินการอยู่อย่างเงียบเชียบ แต่การปล่อยให้ผู้ประกอบการที่ทุ่มเทลงทุนใหญ่ต้องมีสภาพตรงข้ามกับ แอนดรูว์ คาร์เนกี้  ก็ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี

 เว้นแต่เราเชื่อว่าผู้ประกอบการวงการเหล็กเหล่านี้ เป็น บาปของซิสซิฟัส ที่ต้องแบกหินขึ้นภูเขาไม่รู้จบ …ก็เป็นอีกเรื่อง

Back to top button