วันเวลาของแมงเม่า

ความพยายามที่จะดันให้ดัชนี SET ทะลุแนวต้านสำคัญ 1,640 จุด เพื่อทำหลักหมุดที่จุดสูงสุดในรอบ 4 ปี ยังคงไม่ผ่านได้ เพราะแรงขายทำกำไรที่ผลัดกันออกมา โดยในวันศุกร์ รายย่อยขายสุทธิ และวานนี้ ต่างชาติ กองทุนในประเทศ และพอร์ตโบรกเกอร์ พร้อมใจขายทำกำไร


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ความพยายามที่จะดันให้ดัชนี SET ทะลุแนวต้านสำคัญ 1,640 จุด เพื่อทำหลักหมุดที่จุดสูงสุดในรอบ 4 ปี ยังคงไม่ผ่านได้ เพราะแรงขายทำกำไรที่ผลัดกันออกมา โดยในวันศุกร์ รายย่อยขายสุทธิ และวานนี้ ต่างชาติ กองทุนในประเทศ และพอร์ตโบรกเกอร์ พร้อมใจขายทำกำไร

ปฏิบัติการเช่นนี้ ขายเมื่อชนแนวต้านที่เจอดัชนีซึ่งมีค่าพี/อีค่อนข้างสูง ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจะเห็นได้ชัดว่ารอบนี้ ทุนไหลเข้าของต่างชาติเข้ามายังตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะเดือนกันยายนนี้เฉลี่ยวันละนับหมื่นล้านบาทแต่เข้าตลาดหุ้นน้อยมาก เพราะตลอดทั้งปีนี้ ยอดซื้อสะสมสุทธิของต่างชาติในตลาดหุ้น (ยอดสิ้นสุดวานนี้) มีอยู่เพียงแค่ประมาณ 5.9 พันล้านบาทเศษเท่านั้น

ส่วนหนึ่งของการที่แนวต้านเหนือ 1,640 จุดของดัชนี SET แข็งแกร่งมาก เพราะว่าค่าพี/อีล่าสุดของดัชนีอยู่ที่ 17.6 เท่า ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นอื่นๆ เช่นดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่นอยู่ที่ 17.8 เท่า และฮั่งเส็งของฮ่งกงที่อยู่แค่ 14.1 เท่า และหากเทียบกับดัชนี MSCI สำหรับตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด ที่ระดับ 1.59 เท่า ก็ถือว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย มีราคาสูงกว่าตลาดอื่นๆ

หากเทียบกับอนาคต จะยิ่งเห็นว่าโอกาสที่ดัชนีขาขึ้นยามนี้ของตลาดหุ้นไทยจะสิ้นสุดลง เป็นไปได้มากขึ้นเพราะหากดูค่าพี/อีล่วงหน้าตอนสิ้นปีนี้ของตลาดหุ้นฮ่องกง จะลดลงไปที่ 11.8 เท่า และ MSCI สำหรับตลาดเกิดใหม่ จะอยู่ที่ 12.2 เท่า ดังนั้น โอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะต้องปรับตัวลงไปที่พี/อีต่ำกว่า 15 เท่า ย่อมเป็นไปได้

คำถามก็คือ หากค่าพี/อีของดัชนีตลาดหุ้นไทย จะลดลงไปที่ระดับต่ำกว่า 15 เท่า จะมีทางเลือก 2 ทางเท่านั้นคือ กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะต้องดีมากจนทำให้ค่าพี/อีลดลง โดยไม่รบกวนราคาหุ้น หรือ ในทางกลับกับ ราคาหุ้นจะต้องร่วงลงไปหากว่ากำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน ยังย่ำแย่เหมือนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ดังนั้น การขายมากกว่าซื้อยามที่ตลาดเป็นขาขึ้นแรงของรายย่อย จึงสะท้อนให้เห็นแง่มุมที่ชาญฉลาดและเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่โชกโชนของนักลงทุนรายย่อยไทยที่เข้าถึงและรู้ทันธรรมชาติของตลาดเก็งกำไรได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้สีสันของตลาดหุ้นไทยมีความหลากหลายกว่าตลาดอื่น

หากว่าข้อมูลและวิสัยทัศน์จากข้อเขียนล่าสุดของ ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท
ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ไม่มีความผิดพลาดหรือหลงทาง จากข้อสรุปว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในต่างประเทศหลายๆ แห่งเริ่มให้ความสำคัญกับการขยายฐานผู้ลงทุนรายย่อยมากขึ้น

ข้อมูลที่อ้างอิงว่า สมาพันธ์ตลาดหุ้นนานาชาติหรือ World Federation of Exchanges (WFE) ได้มีการศึกษาในปี 2017 เรื่องของการขยายฐานผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดเกิดใหม่ ได้ชี้ว่ากลุ่มนี้เป็นส่วนเติมเต็มสำคัญที่ช่วยให้เกิดการซื้อขายและเพิ่มสภาพคล่องของตลาด เพราะมีพฤติกรรมที่ใช้ระยะเวลาลงทุนที่สั้นกว่า และมีแนวโน้มที่จะซื้อขายถี่กว่าผู้ลงทุนสถาบันที่ค่อนข้างถือยาวและไม่ซื้อขายบ่อยครั้ง

นอกจากนั้น  ผลศึกษายังชี้ต่อไปว่าการที่ผู้ลงทุนรายย่อยมีส่วนร่วมในการซื้อขายในสัดส่วนที่เหมาะสม ถือว่าสามารถลดผลกระทบและช่วยให้ตลาดมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยผันผวนที่เกิดขึ้นจากภายนอกประเทศได้

การหวนกลับมาสู่แนวทางสร้างรายย่อยมากขึ้น กลับกลายเป็นทิศทางที่ถูกนำมาใช้ในหลายตลาดมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนรายย่อย ผ่านหลายแนวทาง เช่น การผลักดันให้เพิ่มการกระจายหุ้น  IPO ไปยังผู้ลงทุนรายย่อยในสัดส่วนที่สูงขึ้น รวมไปถึงการให้ความรู้ด้านการลงทุนแก่รายย่อยมากขึ้น

การค้นพบความสำคัญของรายย่อย ถือว่า ตลาดหุ้นไทย ได้เดินทางมาบนเส้นทางที่ถูกต้อง และบรรดาคำปรามาสทั้งหลายที่บอกว่าการมีนักลงทุนรายย่อยมากเกินไปในตลาดหุ้นไทยนั้น ทำให้ตลาดหุ้นลดทอนคุณภาพลง ล้วนเป็นมายาคติ หรือ บทสรุปที่ไม่ได้มีข้อเท็จจริงรองรับ

หากพิจารณาข้อมูลล่าสุดของตลาดหุ้นไทย จะพบตัวเลขบางอย่างคือ ล่าสุดจำนวนบัญชีซื้อขายในตลาดหุ้นไทยนั้น มีทั้งหมดล่าสุดที่ระดับ 2.09 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้ คิดเป็นบัญชีที่ซื้อขายถี่ชุก หรือ active account ในระยะ 1  เดือนที่ผ่านมาที่ 3.32 แสนบัญชี และในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลข 6.17 แสนบัญชี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ดีทีเดียว

ในจำนวนตัวเลขนักลงทุนที่ซื้อขายถี่ชุกนี้ มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า คิดเป็นนักลงทุนที่ซื้อขายทางออนไลน์มากถึง 2.27 แสนบัญชีในระยะเวลา 1 เดือน และมีจำนวน 4.86 แสนบัญชีในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของบัญชีที่ซื้อขายถี่ชุก

ตัวเลขนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายด้วยระบบออนไลน์ เท่ากับว่านักลงทุนกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด ไม่เน้นบัญชีมาร์จิ้น ที่ต้องกู้เงินโบรกเกอร์มาเล่นทำกำไร

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า ตัวเลขซื้อขายด้วยมาร์จิ้นที่มีอยู่เพียง 14.28% ตอกย้ำคุณภาพของนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยได้ชัดเจนว่า ไม่ใช่แค่แมงเม่าธรรมดาที่ไร้เดียงสาแบบในอดีตอีกต่อไปแล้ว

จะบอกว่านักลงทุนรายย่อยไทยนั้น เป็นคนที่เข้าถึงกลไกของระบบเศรษฐกิจ 4.0 ได้โดยไม่ต้องมีใครมาชี้นิ้วบอก ก็คงไม่ผิดพลาดอะไร

วันเวลาของนักลงทุนแมงเม่าในตลาดหุ้นไทย ก็สะท้อนข้อเท็จจริงเชิงพฤติกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้มากทีเดียว น่าจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์ จำต้องทำการบ้านให้มากกว่าระดับปกติอีกหลายเท่า หากยังต้องการแข่งขันในตลาดต่อไป

X
Back to top button