1 ปีเลือกตั้งจริงดิ?

  ไปไกลกว่า “ปฏิญญาทำเนียบขาว” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลั่นปากว่าจะประกาศวันเลือกตั้งได้ในเดือนมิถุนายน 2561 แล้วจะมีเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง 

ไปไกลกว่า “ปฏิญญาทำเนียบขาว” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลั่นปากว่าจะประกาศวันเลือกตั้งได้ในเดือนมิถุนายน 2561 แล้วจะมีเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561

“ประมาณนะครับ” แต่เมื่อท่านลั่นปาก ก็ล่าช้าได้ไม่เกิน 1-2 เดือน กรธ.สนช.คงไม่กล้าเตะถ่วงให้ท่านผู้นำเสียสัตย์

เพราะเมื่อประกาศอย่างนี้ ก็แปลว่าท่านหวังให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ลากตั้ง ส.ว. มีผลบังคับใช้ภายในเดือน มิ.ย. จากนั้นก็ต้องมีเลือกตั้งใน 150 วันตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมาตรา 268 เมื่อเลือกตั้งเสร็จ กกต.ก็ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน แล้ว ส.ส. ส.ว.ก็จะประชุมกันเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272

หลังจากนั้น ประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. 2562 ลุงตู่ก็คงกลับบ้านได้ พาภริยาไปเที่ยวหรือไปเดินห้างให้สบายใจหลังไม่ได้เที่ยวมา 5 ปี Believe It or Not!

คำประกาศนี้มีทั้งผลดีผลเสียต่อรัฐบาลคสช. เฉพาะหน้ามีผลดีมากกว่า แหงสิครับ อันดับแรก ลดแรงกดดัน ทั้งจากพรรคการเมือง และจากชาวบ้าน ที่กำลังบ่นปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง

สถานการณ์รัฐบาลวันนี้กำลังดูเหมือนจะดี ในทางการเมืองก็หมดเสี้ยนหนาม ยิ่งลักษณ์หนี ทักษิณจะถูกดำเนินคดีย้อนหลัง กระทั่งโอ๊ค ก็คงไม่รอดเหมือนกัน โหมกระแสซะขนาดนั้น

ในทางต่างประเทศก็เพิ่งไปพบทรัมป์แม้ทรัมป์ไม่แยแสประชาธิปไตย อยากขายถ่านหินกับเครื่องในหมูมากกว่า แต่การประกาศเลือกตั้งย่อมทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้นในสายตานักลงทุน

ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลเพิ่งทุ่มลงทุนสาธารณูปโภค พร้อมประชารัฐ บัตรคนจน จำนำยุ้งฉาง หรือโครงการ 9101 ซึ่งแม้มีเรื่องร้องเรียนมาก แต่ก็ทำให้เงินสดสะพัดชนบท กระตุ้นกำลังซื้อ

คำถามคือ ในเมื่อสถานการณ์ดูดีซะขนาดนี้ ทำไมต้องรีบเลือกตั้ง ทำไมไม่อยู่ยาว ข้อแรกก็คือฝืนธรรมชาติสังคมไม่ได้หรอก ไหนว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ข้อสอง รัฐธรรมนูญใหม่ล็อกอำนาจไว้หมดแล้ว ไม่ต้องกลัวนักการเมืองจากเลือกตั้ง

ข้อสาม ข้อสำคัญ สถานการณ์ที่ว่าดูดี อาจไม่ดีจริงและดีชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถทนแรงเสียดทานจนอยู่นานๆ ได้

ยกตัวอย่างทางการเมือง แม้การดำเนินคดีตระกูลชินวัตรช่วยปลุกความเกลียดชัง กลบกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ถ้าเข้าสู่การเมืองยุคโพสต์ชินวัตรจริงๆ คสช. ทหาร รัฐราชการ ก็จะตกเป็นเป้าหมายใหม่เพราะอำนาจมากล้น

ยกตัวอย่างทางเศรษฐกิจ แม้จีดีพีโต ส่งออกดี แต่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ค่อยขยับ เศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านกลับแย่ลง กำลังซื้อวันนี้มาจากการกระตุ้นโดยโครงการรัฐ ถ้ามีอะไรผันผวนก็ตีกลับได้ทุกเมื่อ การประกาศเลือกตั้งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็ทางจิตวิทยาอย่างแย่ๆ หน่อย ถ้าชาวบ้านรู้สึกลำบากเต็มทีก็จะได้นับถอยหลังรอเลือกตั้ง

แม้ของจริง จะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความหมาย จะมีความขัดแย้งปั่นป่วนมากมาย และ คสช.ยังไม่ไปไหนจนต้นปี 62 หลังจากนั้นก็คงได้นายกฯ คนนอก

นั่นแหละปัญหาที่จะตามมา ระบอบหลังเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ เผด็จการก็ไม่เต็มใบ พยายามจะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จด้วยนายกฯ คนนอก ส.ว.แต่งตั้ง กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ผบ.เหล่าทัพ ศาล องค์กรอิสระ ฯลฯ แต่จำยอมเปิดพื้นที่ให้มีเลือกตั้ง ขณะที่ยังมีกลไกจำกัดสิทธิเสรีภาพมากมาย

นายกฯ คนนอกที่ไม่มี ม.44 บริหารประเทศไม่ง่ายจะทั้งขัดแย้งกับประชาชนทุกฝ่าย และขัดแย้งในกลไกอำนาจเอง อย่าฝันว่ามีเลือกตั้งแล้วราบรื่น อาจเป็นความขัดแย้งเฟสใหม่ ที่ยุ่งเหยิงซับซ้อนกว่าเดิม

Back to top button