ซื้อหุ้นถือข้ามปีและสุนิยม

ไม่มีใครกล้าบอก ยกเว้นบรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุน “ขาเชียร์” ว่า ปี 2561 ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะทะลุ 1,800 จุด และอาจก้าวข้ามแนวต้านไปที่ 1,900 จุดได้


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ไม่มีใครกล้าบอก ยกเว้นบรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุน “ขาเชียร์” ว่า ปี 2561 ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะทะลุ 1,800 จุด และอาจก้าวข้ามแนวต้านไปที่ 1,900 จุดได้

ความเชื่อมั่นดังกล่าว ค่อนข้างคล้ายคลึงกับตอนก่อนสิ้นปี 2537 ตอนที่ดัชนี SET อยู่ที่ 1,600 จุด บางคนบอกว่าสิ้นปี 2558 ได้เห็นดัชนีทะลุ 1,760 จุดแน่นอน และปี 2559 จะได้เห็นดัชนีแตะ 1,800 จุด เหตุเพราะเชื่อว่าการเมืองของประเทศใต้อำนาจกองทัพ จะมีเสถียรภาพ ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไกล

น่าเสียดายความเชื่อมั่นในอดีตดังกล่าว ถูกสั่นคลอนอย่างหนักตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จนถึงสิ้นปีนั้น เมื่อดัชนีสิ้นปีที่ระดับใต้ 1,300 จุด เพราะราคาน้ำมันพังทลาย เนื่องจากภาวะอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ในขณะที่ฟันด์โฟลว์ต่างชาติขายสุทธิหนักตลอดทั้งปีรวม 2.0 แสนล้านบาท

ปี 2560 เริ่มต้นปีด้วยอาการลังเลของนักลงทุนเพราะดัชนีที่เหนือระดับ 1,500 จุด ทำให้เกิดคำถาม 3 คำถามใหญ่แต่ต้นปีคือ ทรัมป์เอฟเฟ็กต์จะยั่งยืนแค่ไหน เฟดฯจะขึ้นดอกเบี้ยแรงแค่ไหน และฟันด์โฟลว์จะกลับมาอีกหรือไม่หลังจากสิ้นปี 2559 ฟันด์โฟลว์ต่างชาติขายสุทธิอีก 7.0 หมื่นล้านบาท

ความลังเลใจของนักลงทุนยังดำเนินต่อไปจนถึงต้นไตรมาสสามของปี ก่อนจะทะยานขึ้นท้าทายจุดปิดสูงสุดที่เป็นประวัติศาสตร์ จนทำท่าจะทะลุไปได้ ก่อนที่จะปิดตลาดที่ห่างจากจุดสูงสุดเดิมที่ทำไว้เมื่อวันที่  4 มกราคม 2537 หรือ กว่า 24 ปีก่อน เพียงแค่ 0.20 จุด

ถึงตอนนี้ ความเชื่อมั่นที่กลับมาอีกครั้งในปลายปี 2560 ทำให้คำแนะนำ “ซื้อหุ้นข้ามปี” (ในบริบทที่ต่างจากสวดมนต์ข้ามปี) จากบรรดานักวิเคราะห์สำนักต่างๆ กลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยคำอธิบายว่าเป็นการฉกฉวยโอกาส (ไม่ยอมบอกว่า โอกาสที่แท้จริงเป็นของใคร) ในฐานะของ “ธีมการลงทุนระยะสั้น”

คำชี้แนะของนักวิเคราะห์ “ขาเชียร์” สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของ “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้นที่แม้คนที่ดูระวังรอบคอบมากสุด ยังเชื่อมั่นว่า ดัชนี SET ปลายปี 2561 จะทะลุ เหนือ 1,800 จุดได้ไม่ยาก

ข้อแนะนำให้ถือหุ้นบลูชิพ ที่เกิดจากสาเหตุพื้นฐานต่างกันไป เช่น 1) เป็นหุ้นปันผลสูง เก็บรอเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการอ่อนหรือแข็งค่าของเงินบาท 3) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการก่อสร้างภาครัฐ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง 4) หุ้นพื้นฐานที่มีการเติบโตสูง (โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานที่รับประโยชน์การฟื้นตัวของราคาน้ำมัน) แบบข้ามปีไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการคาดเดาอนาคตที่มีคนต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารดังกล่าวค่อนข้างมาก

หากเทียบเคียงนักวิเคราะห์หุ้นในไทยกับต่างชาติจะเห็นได้ชัดว่ามีลักษณะให้คำชี้แนะที่ระวังตัวอย่างมาก เพราะที่ปรากฏในสื่อระดับโลกนั้น บางครั้งก็เกินเลย ไม่ใช่แค่ถือหุ้นข้ามปี แต่อาจถือหุ้นข้าม 5 ปี ก็ยังปรากฏเป็นประจำ ทั้งที่น่าจะเป็นคำชี้แนะที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

อีกเหตุผลหนึ่งที่นักวิเคราะห์หุ้นไทยไม่แนะนำ แต่นักลงทุนจำนวนมากก็ยังคงมีความเชื่อว่าทุกเดือนมกราคม หุ้นขนาดกลางและเล็กจะมีปรากฏการณ์ January Effect ขึ้นได้ แม้จะไม่มีสถิติอะไรมารองรับ แถมยังมีข้อมูลการวิจัยจากวอลล์สตรีทในไม่กี่ปีก่อนระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าว ไม่มีนัยสำคัญทั้งสิ้น แต่คำเล่าลือที่ “บอกต่อ” ว่า ความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นขนาดเล็กจะพุ่งขึ้นในเดือนมกราคมมีมากกว่าเดือนอื่นในรอบปีมากกว่า 500% ก็ยังเรียกศรัทธาได้ดีจากกระบวนการตาบอดคลำช้างได้เสมอ เป็นผลทำให้กระบวนซื้อหุ้นข้ามปี ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ในเชิงจิตวิทยาการลงทุน ความเชื่อเกี่ยวกับการซื้อหุ้นข้ามปี เป็นเพียงแค่ “มายาคติ” ที่ไม่สามารถเป็น “สัจจะ” ได้ แต่มันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ในฐานะเครื่องมือหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณเชิงบวกที่ทำให้การลงทุนบนความเสี่ยง ไม่ได้แห้งแล้งมากเกินขนาด

นักจิตวิทยาด้านการลงทุน มองว่ามายาคติเชิงบวกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญา “สุนิยม” (Optimism) ที่เป็นอาภรณ์และทางเลือกของคนจำนวนไม่น้อย โดยที่มีธรรมชาติพื้นฐานที่บิดเบือนจากมุมมองแบบ “อัตถนิยม” (Realism) ที่มีสารัตถะสำคัญว่า

-สุนิยม มักจะเชื่อว่าตนเองมีความสุขมากกว่าคนอื่นๆ ทำให้มองโลกสดใส แม้จะมีปัญหาแค่ไหน

-สุนิยม เป็นความเชื่อของคนกลุ่มน้อย ท่ามกลางคนกลุ่มอื่นๆ ในโลกอันหลากหลาย

-สุนิยม ไม่ได้อิงแอบกับข้อเท็จจริงรอบตัว แต่อยู่กับศรัทธาและความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า คนที่มองโลกแบบอื่นๆ ขาดความกล้าหาญที่จะค้นหาโอกาสแห่งชัยชนะในยามที่พ่ายแพ้

ปัญหาของนักสุนิยม ที่แอบอิงกับความเชื่อมั่นในอนาคตนั้น อยู่ที่พวกเขามัก “ดูเบา” หรือประเมินต่ำเกินไปในเรื่องความเสี่ยง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญมากโดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุน

นักลงทุนที่สวมกอดหรือสวมใส่อาภรณ์ของความเชื่อมั่นในอนาคตมากเกินขนาด ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ชอบ “นอนร่วมเตียงกับศัตรู” มีความประมาทหรือประเมินความเสี่ยงในอนาคตต่ำเกิน เข้าข่ายเป็น “คนรักความเสี่ยง” (Risk lovers) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีโอกาสที่จะพลาดพลั้งได้

บทเรียนจากอดีต อาจจะมีใครบางคนพยายามหลงลืมไป ในยามที่ตลาดเป็นขาขึ้นนานหลายเดือน แต่ท้ายที่สุด ความเชื่อมั่นที่เกินจริง มักจะถูกสยบด้วยข้อเท็จจริงของ “คุณตลาด” เสมอ…

X
Back to top button