คำเตือนก่อนเห็นโลง (อีกครั้ง)

เสียงเตือนแต่ไก่โห่ของคณะจัดทำหนังสือรายงานประจำปีของธนาคารโลก ระบุอันตรายของเศรษฐกิจโลกโดยรวมปีนี้ มีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เสียงเตือนแต่ไก่โห่ของคณะจัดทำหนังสือรายงานประจำปีของธนาคารโลก ระบุอันตรายของเศรษฐกิจโลกโดยรวมปีนี้ มีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน

  • ตลาดเงินและตลาดทุนโลกกำลังอิ่มเอิบใจมากเกินขนาด จนดูเบาความเสี่ยงของเงินเฟ้อ ที่อาจจะเกิดจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตดีเกินคาด (แต่เปราะบาง) เพราะการอัดฉีดเม็ดเงินของภาครัฐที่มีต้นทุนการเงินต่ำจากปัญหาเงินล้นโลก อาจจะตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่เร็วกว่าคาดที่ส่งผลต่อตลาดได้ง่ายมาก
  • การทะยานขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกยามนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาพของตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปก่อนวิกฤต ค.ศ. 1929 (the Wall Street Crash of 1929) ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ก็อยู่ในภาวะซบเซาเกินจำเป็น เพราะตลาดเชื่อว่าดอกเบี้ยยังจะต่ำต่อไปอีกยาวนานจากภาวะเงินท่วมโลก สะท้อนว่า ตลาดมึนชากับข่าวร้ายและข่าวดีจนมั่วไปหมด แยกแยะไม่ถูก
  • การเติบโตที่เร็วเกินคาดของเศรษฐกิจโลกรอบนี้ มีรากฐานบนความล้มเหลวของการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (productivity of workers) ทำให้ค่าจ้างเพิ่มเร็วกว่าผลผลิตที่ออกมา ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ในยามที่เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยกลับมาผงกหัวขึ้นครั้งใหม่ ในระยะต่อไป
  • หนี้สินทั้งระบบของจีนที่มากเกินมาตรฐาน รวมทั้งที่ซุกซ่อนเอาไว้ไม่เปิดเผย คาดว่าจะมากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนถึง 3 เท่าตัว หรือ 300% จะถ่วงรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเพราะอาจจะนำไปสู่วิกฤตของตลาดเงินในจีน และเอเชียได้ง่ายมาก หากการบริหารจัดการแบบสั่งการจากเบื้องบน มีความผิดพลาด

โดยข้อเท็จจริง มีคำเตือนก่อนหน้านี้ที่คล้ายคลึงกันจากหลายหน่วยงานที่กำกับดูแลและเพ่งมองภาพรวมของตลาดเงินและตลาดทุนของโลกหลายครั้งตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

ในเดือนพฤศจิกายน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เคยออกมาเตือนเรื่องความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เน่าในจีน ว่ากำลังจะกลายเป็นตัวถ่วงรั้งให้เศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าเข้าขั้นวิกฤตได้ หลังจากการสำรวจล่าสุดเรื่องตัวเลขหนี้ของระบบการเงินจีน มากกว่าที่เคยคาดเดากัน เพราะถูกซุกซ่อนเอาไว้ โดยเฉพาะตัวเลขหนี้ส่วนบุคคลจากการบริโภคที่เพิ่มทวีคูณในระยะ 5 ปีมานี้

IMF เตือนว่า การที่ทางการจีนยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มากกว่าเสถียรภาพของระบบการเงิน ยินยอมให้หนี้เติบโตมากกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีต่อเนื่องที่ระดับ 15% ต่อปี จะยิ่งทำให้ภาระหนี้เสียที่ถูกซุกซ่อนไว้ มีโอกาสที่จะทำให้จีนมีโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินคล้ายคลึงกับสหรัฐฯก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

คำเตือนส่งท้ายปีที่แล้ว ที่ดูมีน้ำหนักมากกว่าใคร มาจากผลการตรวจสุขภาพรายไตรมาสของสถาบันการเงินทั่วโลกโดยธนาคารกลางของธนาคารกลาง (BIS-เจ้าของกฎบาเซิลทั้งหลายในปัจจุบัน) ซึ่งออกคำเตือนที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งว่า สถานการณ์ในเศรษฐกิจโลกยามนี้ เหมือนกับยุคก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งนักลงทุนเร่งมองหาผลตอบแทนสูง กู้ยืมอย่างหนักเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แม้ว่าธนาคารกลางหลายแห่งได้เคลื่อนไหวเพื่อเข้มงวดต่อการเข้าถึงสินเชื่อ

BIS กล่าวว่า ความพยายามที่ล้มเหลวของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดฯ ที่จะลดความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กำลังก่อร่างเค้าโครงของฟองสบู่การเงินให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

คำชี้แนะจาก BIS ในการออกจากปัญหาที่ชวนสยดสยอง อยู่ที่บรรดาธนาคารกลางทั้งหลาย (โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ ECB BOJ และ PBOC) ต้องพยายามหาทางปรับเปลี่ยนกระบวนการสื่อสารเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยพื้นฐาน หรือความเร็วที่พวกเขากำลังจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกระตุกให้นักลงทุนตระหนักอีกครั้งถึงความจำเป็นที่จะทำให้ตลาดเก็งกำไรสงบนิ่งมีเหตุมีผล ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดตลาดเก็งกำไรที่พุ่งขึ้นเกินกว่าพื้นฐาน ดังที่กำลังเกิดขึ้นหลายปีมานี้ในระหว่างที่อัตราดอกเบี้ยต่ำผิดปกติ

ข้อเท็จจริงที่ทราบกันดี ปัญหาทุนท่วมโลกจากมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้นธารของการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น จนปริมาณหนี้ในระบบสูงผิดปกติ ในรูปสกุลเงินต่างชาติและสกุลเงินในท้องถิ่นนั้น หากยิ่งขืนปล่อยให้สภาพนี้ดำรงอยู่นานเท่าใด ก็ยิ่งมีความเสี่ยงให้เกิดวิกฤตมากขึ้นในระยะยาว

คำเตือนของ BIS ตอกย้ำให้น้ำหนักของคำเตือนก่อนหน้าของ​ธนาคารกลางยุโรป และ บุนเดสแบงก์ของเยอรมนี ที่ย้ำถึงความเปราะบางหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาเกินจริงในบางประเทศ ความอิ่มอกอิ่มใจในกำไรจากตลาดหุ้นของนักลงทุน และการปล่อยกู้ง่ายของบางธนาคารที่พยายาม “เก็บเบี้ยไต้ถุนร้าน” จากอัตราดอกเบี้ยต่ำติดพื้นนานเกินเวลาปกติ

บุนเดสแบงก์ของเยอรมนี พูดถึงเรื่องฟองสบู่เศรษฐกิจในเยอรมนี โดยระบุว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำและภาวะเศรษฐกิจที่น่าพอใจในเยอรมนี เป็นเสมือนการเหยียบคันเร่งรถยนต์เมื่อเข้าสู่โค้งอันตราย

คำเตือนอีกครั้งจากเจ้าหน้าที่ธนาคารโลก อาจจะไม่มีความหมายอะไร สามารถเป็นข่าวได้ไม่กี่วันก็ถูกลืม เหมือน “สายลมที่ผ่านเลย” ได้อีกครั้ง จะกลับมามีคนระลึกถึง ก็คงสายเกินแก้แล้ว

คล้ายกับคำเตือนของนักเศรษฐมิติชื่อดัง ไฮแมน มินสกี้ (Hyman Minsky) ที่สร้างโมเดลของ เส้นทางสู่หายนะของ “การลงทุนแบบกาสิโน” (speculative “casino-like” investments) ก่อนนำไปสู่วิกฤต ในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 แล้วถูกเพิกเฉยจนกระทั่งเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ค.ศ.2008 จึงมีคนนำไปอ้างอิงโด่งดัง

เหตุผลเพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น หากไม่เห็นโลงก็ยากจะหลั่งน้ำตา

บางคน หนักข้อกว่านั้น ถึงเห็นโลงแล้วก็ยังไม่ยอมหลั่งน้ำตา (เพราะต่อมน้ำตาแห้งเหือดไปหมด)

X
Back to top button