IFRS กับหุ้นบริษัทไทย

 เหตุผลหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีงบผลประกอบการงวดสิ้นปี 2560 ไม่สวยเอาเสียเลย บางรายขี้เหร่จนดูไม่ได้ อยู่ที่คำธิบายว่า ส่วนหนึ่งมาจากการต้องถูกบังคับตั้งสำรองล่วงหน้าก่อนที่จะมีการบันทึกและรายงานทางบัญชีใหม่มาใช้ในปี 2562 เป็นต้นไป


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เหตุผลหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีงบผลประกอบการงวดสิ้นปี 2560 ไม่สวยเอาเสียเลย บางรายขี้เหร่จนดูไม่ได้ อยู่ที่คำธิบายว่า ส่วนหนึ่งมาจากการต้องถูกบังคับตั้งสำรองล่วงหน้าก่อนที่จะมีการบันทึกและรายงานทางบัญชีใหม่มาใช้ในปี 2562 เป็นต้นไป

ระบบมาตรฐานบัญชีใหม่ที่ว่าคือ IFRS ที่มีคนประเมินล่วงหน้าว่า จะทำให้งบการเงินกลุ่มธนาคารดูขี้เหร่กว่าเดิมตลอดทั้งปีนี้แน่นอน

คำถามว่า มาตรฐานทางบัญชีใหม่ที่ว่า มันเป็นสิ่งที่ดีหรือแย่กันแน่ จึงเกิดขึ้น

โดยข้อเท็จจริง มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) เป็นมาตรฐานและการตีความที่นำมาใช้โดยคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IASB) และมีการใช้งานในกว่าหนึ่งร้อยประเทศทั่วโลก IFRS ประกอบด้วยกรอบการทำงานเบื้องต้น มาตรฐานทางการเงิน 38 หมวดและการตีความ 27 หมวด

วัตถุประสงค์และเจตนาของการนำเอามาตรฐานใหม่นี้มาใช้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างแน่นอน เพราะมีไว้เพื่อสร้างหลักประกันว่าการปฏิบัติทางการบัญชี จะเป็นหลักการที่สร้างความเที่ยงตรงของการปฏิบัติทางบัญชีของบริษัทต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตลอดทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่นักบัญชีของไทยทั้งหมดก็ใช้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติมายาวนานเช่นกัน

ประเด็นที่ทำให้วุ่นวายก็เนื่องจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่สหรัฐอเมริกามีการใช้ระบบมาตรฐานการบัญชีที่พัฒนาขึ้นมา ที่เรียกว่า GAAP (Generally Accepted Accounting Principles) ในขณะที่ทางยุโรปใช้มาตรฐานการบัญชีที่เรียกว่า IASB (International Accounting Standard)

ในกรณีของไทยนั้น มีการเริ่มต้นจัดทำบัญชีจากระบบมาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับ GAAP และได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยพยายามปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับ IAS เพื่อให้มาตรฐานทุกอย่างรวมกันเป็นมาตรฐานเดียวทั่วโลก เรียกว่าระบบ TFRS อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะแบบไทยนิยม

ปัจจุบัน IASB (International Accounting Standard Board) หรือคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีสากล ได้มีข้อกำหนดมาตรฐานการบัญชีให้เป็นรูปแบบเดียวกันเพื่อใช้เป็นหลักสากลทั่วโลก (International Financial Reporting Standards: IFRS) โดยพัฒนาและออกกฎระเบียบการลงบันทึกบัญชีใหม่เพื่อให้โลกมีภาษาบัญชีเดียวกันทั่วโลก

การที่บริษัทธุรกิจไทย มีธุรกรรมและลงทุนข้ามชาติมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ทำให้เกิดความจำเป็นต้องนำเอา IFRS มาใช้ ถือเป็น “โลกล้อมระเทศไทย” อีกรูปแบบหนึ่งโดยปริยาย

วันที่ 10 มีนาคม 2559 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สภาวิชาชีพบัญชี และอีกหลายหน่วยงานในไทย เช่น  สำนักงาน ก.ล.ต. และ คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IASB) ได้แถลงการร่วมว่าไทยพร้อมจะก้าวสู่มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบ ตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS)  ซึ่งนอกจากจะยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินและส่งเสริมให้รายงานทางการเงินของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ยังส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้มีการเชื่อมโยงมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ เข้ากับระบบนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมฯ (DBD e-Filing) ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถนำข้อมูลงบการเงินที่ได้มาตรฐานไปทำการวิเคราะห์และประเมินทิศทางแนวโน้มของธุรกิจได้ทันที

ก้าวย่างจากนี้ไปของ IFRS อาจะเป็นเรื่องใหม่ และยุ่งยาก โดยเฉพาะเรื่องของการบันทึก “ค่ายุติธรรม” ที่เคยเป็นนามธรรม จากนี้ไปก็จะมีความชัดเจนและคุ้นเคยมากขึ้น

เรื่องนี้ เป็นได้ทั้งต้นทุนและโอกาสของราคาหุ้น ตลาดหุ้น และนักลงทุน อย่างหนีไม่พ้น

Back to top button