ปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง

ในที่สุด สถาบันรัฐไทยก็เริ่มออกมาตอบโต้ เมื่อสถานการณ์ที่เริ่มมีกระแสการระดมทุนด้วยเงินเสมือนอิเล็กทรอนิกส์ (หรือเงินเสมือนดิจิทัล สุดแท้แต่จะเรียก) ปรากฏตัวขึ้นมาเปิดเผยมากขึ้น โดยอาศัยจังหวะที่ไม่มีกติกาหรือกฎหมายบังคับใช้


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ในที่สุด สถาบันรัฐไทยก็เริ่มออกมาตอบโต้ เมื่อสถานการณ์ที่เริ่มมีกระแสการระดมทุนด้วยเงินเสมือนอิเล็กทรอนิกส์ (หรือเงินเสมือนดิจิทัล สุดแท้แต่จะเรียก) ปรากฏตัวขึ้นมาเปิดเผยมากขึ้น โดยอาศัยจังหวะที่ไม่มีกติกาหรือกฎหมายบังคับใช้

เริ่มต้นจากกลุ่มเจมาร์ท ตามมาด้วยกลุ่ม ORI และล่าสุดกลุ่ม WHA และมีแนวโน้มว่าจะตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องการระดมทุนด้วยช่องทางใหม่ที่เป็นอิสระจากกติกาและการควบคุมของหน่วยงานรัฐที่คุมอำนาจจากส่วนกลางที่คร่ำครึ

เมื่อวานนี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยว่า ได้มีการตั้งคณะทำงาน 4 ฝ่ายขึ้นมา เพื่อสรุปหาแนวทางการกำกับดูแลการซื้อสกุลเงินดิจิทัล ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปง.)

คณะทำงานดังกล่าวคาดว่า จะสรุปแนวทางการกำกับดูแลการซื้อสกุลเงินดิจิทัลให้ได้ภายใน 1 เดือน หรือภายในเดือน ก.พ.นี้ โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานที่ผ่านมา ซึ่งทาง ธปท. ได้ศึกษาเรื่องนี้มามากแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยออกไป โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ปปง. ก็จะเข้าไปให้ความเห็นเพิ่มเติมจากการศึกษาของ ธปท. เพื่อได้ข้อสรุปการกำกับดูแลการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลให้รอบด้านมากที่สุด

ขณะเดียวกัน ปลัดกระทรวงการคลังก็ออกมาปรามในกรณี บริษัท เจ เวนเวอร์ส (JVC) ในกลุ่ม บมจ.เจมาร์ท (JMART) มีการระดมทุนในรูปแบบดิจิทัล หรือ ICO เป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. ที่จะต้องเข้าไปติดตามดูแลเพื่อให้แน่ใจว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการหลอกลวงประชาชน

การออกโรงมาสร้างกติกาเพื่อกำกับดูแลเงินเสมือนดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามชักเย่อ” ที่หน่วยงานรัฐทุกประเทศในโลกทุนนิยม พยายามสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินที่เป็นอยู่ โดยอ้างเหตุผลง่ายๆ แบบสูตรสำเร็จว่า ไม่มีกฎหมายรองรับ และมีความเสี่ยงสูง ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ปมปัญหาของเงินเสมือนดังกล่าว เพราะกระบวนการดำเนินการของเงินเสมือนนี้ เป็นการสร้างกติกาใหม่แบบกระจายอำนาจ ที่ท้าทายอำนาจรัฐเดิมที่พยายามเสมอมาในการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง

ความนิยมในเงินเสมือน ยิ่งแพร่ขยายและซึมลึกในชีวิตประจำวันของผู้คนมากเท่าใด พลังควบคุมของอำนาจรัฐเดิมจะยิ่งถูก “ก้าวข้าม” จนหมดพลังโดยปริยาย

2 คำถามหลังจากการเคลื่อนตัวของรัฐไทยเพื่อกำกับดูแลกติกาของธุรกรรมที่ใช้เงินเสมือนคือ 1) จะมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด 2) จะสามารถทำลายล้างของธุรกรรมเงินเสมือนได้หรือไม่

คำตอบอยู่ที่ว่าจะต้องถอดรหัสให้ได้ว่า สาเหตุรากฐานของการเกิดขึ้นและแพร่กระจายความนิยมเงินเสมือน ที่มาพร้อมกับความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีเครือข่ายออนไลน์

โดยข้อเท็จจริง เงินเสมือนทั้งหลาย (ที่มีบิตคอยน์เป็นตัวชูโรงที่มีคนรู้จักมากสุด) ไม่มีทางที่จะได้รับความนิยมเลย ถ้าหากว่าคนที่ใช้เงินกระดาษ หรือค่าเงินสกุลต่างๆ ทั้งหลายในโลกยังคงมีความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งจากการถือเงินสกุลที่ได้รับการรับรองจากธนาคารกลางชาติต่างๆ

นั่นหมายความว่า เงินเสมือนคือภาพสะท้อนด้านกลับของความเสื่อมโทรมคุณค่าของ “เงินสกุลทางการ” นั่นเอง

ความเสื่อมคุณค่าของ “เงินสกุลทางการ” ในปัจจุบัน เกิดขึ้นหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จากการที่ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสหรัฐฯ (ตามมาด้วยสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) พิมพ์ธนบัตรออกมาในตลาดมหาศาลในแต่ละเดือนตลอด 1 ทศวรรษ ภายใต้มาตรการ QE รวมๆ แล้วมากกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วปล่อยให้ปริมาณเงินที่ล้นโลกดังกล่าวก็ยังหมุนเวียนไปมาอย่างไร้เป้าหมาย ไม่ได้ก่อให้เกิดการจ้างงาน หรือ การเพิ่มผลผลิต หรือเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน เกิดเป็นสภาวะ secular stagnation (การลงทุนเอกชนที่ซบเซา เงินเฟ้อที่ต่ำ และการจ้างงาน-อัตราค่าจ้างที่ทรงตัว) ที่ซึมลึกยั่งยืน

ปมปัญหาเรื้อรังที่เป็นผลจากธนาคารกลางทั่วโลก เลือกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายจนเข้าข่าย “เสพติดนโยบาย” ถอนตัวไม่ขึ้น ทำให้เงินที่ท่วมโลกถกนำไปหมุนเวียนในตลาดเก็งกำไร จนเกิดเป็นภาวะฟองสบู่ทั้งทางตรง(ราคาหุ้นพุ่งแรงเกินพื้นฐาน) และ ทางอ้อม (วิศวกรรมการเงินของบริษัททั้งในตลาดหุ้น และนอกตลาด)

วิศวกรรรมทางการเงิน ถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับนวัตกรรมบนสื่อออนไลน์ จนสามารถ “กลายพันธุ์” เป็นเงินเสมือนอิเล็กทรอนิกส์ หรือเงินดิจิทัลที่แม้จะไม่สามารถใช้ชำระได้ตามกฎหมาย แต่กลับสร้าง “มูลค่าอ้างอิงทางการตลาด” เพื่อนำมาซื้อขายเปลี่ยนมือได้ และมีคนเริ่มเชื่อว่า มีมูลค่าสูงขึ้นกว่าค่า “เงินสกุลทางการ” ที่นับวันจะเสื่อมค่าลงรุนแรง เนื่องจากไม่มีคำตอบว่า “เงินสกุลทางการ” ที่ท่วมโลกจะหายไปได้อย่างไร

ปริศนาการทำ “สงครามชักเย่อ” กับเงินเสมือนของบรรดาหน่วยงานรัฐทั้งหลาย รวมทั้งรัฐไทย อาจจะเป็นแค่ปัญหาตรงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีปัญหาร้ายแรงที่ถูกซ่อนเอาไว้มหาศาล

Back to top button