ROJNA-TICON ญี่ปุ่นถอย เสี่ยเจริญรุก

การตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ในการขายทิ้งหุ้นที่เคยถือในบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON จำนวน 478.7 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.1% ในราคา 17.90 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินมูลค่า 8.57 พันล้านบาท ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่มีความหมายต่อยุทธศาสตร์ธุรกิจของทุนญี่ปุ่นอย่าง NIPPON STEEL (ที่ถือหุ้นใหญ่สุดของ ROJNA มาตั้งแต่ต้น) อย่างมีนัยสำคัญ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

การตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ในการขายทิ้งหุ้นที่เคยถือในบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON จำนวน 478.7 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.1% ในราคา 17.90 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินมูลค่า 8.57 พันล้านบาท ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่มีความหมายต่อยุทธศาสตร์ธุรกิจของทุนญี่ปุ่นอย่าง NIPPON STEEL (ที่ถือหุ้นใหญ่สุดของ ROJNA มาตั้งแต่ต้น) อย่างมีนัยสำคัญ

ในมุมกลับกัน คนซื้ออย่างกลุ่มสิริวัฒนภักดี หรือกลุ่มเสี่ยเจริญ (ไม่ว่าจะใช้ชื่อในนามบริษัทอะไร) ก็มีความหมายเชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจในเชิงรุกอีกแบบหนึ่งที่มีนัยสำคัญไม่แพ้กัน

ที่สำคัญ เป็นการจบความคลุมเครือที่ทั้ง ROJNA และ TICON ทำให้มีความกำกวมกับคำแถลงก่อนหน้าแบบแบ่งรับแบ่งสู้ ที่ว่า “…การนำเสนอข่าวที่ผิดไปจากการให้สัมภาษณ์ ซึ่งแจ้งว่าหากมีผู้สนใจซื้อหุ้น TICON ในราคาที่เหมาะสมก็จะรับไว้พิจารณา…” เพราะ “ฝ่ามือหรือจะปิดฟ้าได้”

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ROJNA แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ อนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ใน TICON ให้แก่บริษัท เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ จำกัด (FAS) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (FPHT) ในสัดส่วนการถือหุ้น 51% และ 49% ตามลำดับ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2561

พร้อมกันนั้น ROJNA ก็แต่งตั้งบริษัท แกรนท์ ธอนตัน เซอร์วิสเซส จำกัด ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ เพื่อนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการขายหุ้นทั้งหมดใน TICON แก่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ROJNA ต่อไป

ดีลธุรกรรมดังกล่าว เป็นการเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข (Conditional Share Purchase Agreement) กับ FAS ภายใต้เงื่อนไขบังคับว่า ROJNA ต้องได้รับการอนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าวจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท

ก่อนหน้าที่จะมีดีลนี้เกิดขึ้น บริษัท FPHT เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรกของ TICON ในสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 40.07% จากผลของการที่ TICON ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนและขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ให้แก่ FPHT จำนวน 735 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 18 บาท (อันเป็นราคาที่สูงกว่าราคาถ่วงน้ำหนักถัวเฉลี่ย 15 วันย้อนหลัง 11.2%) คิดเป็นมูลค่ารวม 13,230 ล้านบาท เมื่อเดือนตุลาคม 2560 ไปแล้ว (และเบ็ดเสร็จไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 เพราะที่ประชุมผู้ถือหุ้น TICON อนุมัติการเพิ่มทุนตามที่คณะกรรมการเสนอ)

ดีลแรกเดิมนั้น FPHT ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ เพราะเป็นการซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายการเข้าครอบงำกิจการตามหลักการ Whitewashing Principle

FPHT เป็นบริษัทในเครือบริษัท Frasers Centrepoint Limited (FCL) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์ มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559)

โดยที่ FCL เป็นบริษัทย่อยในร่มธงของ F&N ที่เป็นบริษัทผลิตเครื่องดื่มและโลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์ข้ามประเทศ แต่มีธุรกิจหลักในสิงคโปร์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท ไทยเบฟเบอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงถือเป็น บริษัทในเครือเสี่ยเจริญ โดยปริยาย

ความแตกต่างเพียงแค่ 2 ประการของดีลซื้อขายล่าสุด (ไม่นับสัดส่วนหรือปริมาณหุ้นที่ซื้อขายกันคือ….1) ราคาซื้อขายที่ลดลงจากดีลแรก จาก 18.00 บาทต่อหุ้นเป็น 17.90 บาทต่อหุ้น 2) ดีลแรกเงินเข้ากระเป๋าของ TICON ที่สามารถนำไปใช้ได้สารพัด แต่ดีลหลังนี้เงินเข้ากระเป๋าของ ROJNA เต็มๆ

แว่วว่า…..ผลของดีลล่าสุดที่จบลง จะทำให้ ROJNA มีกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนประมาณขั้นต่ำ 1.4 พันล้านบาท เลยทีเดียว

ตามสูตรปกติ….ขายหุ้นได้เงินสดและกำไรงาม ก็ต้องแถลงสวยๆ….ROJNA ระบุว่าบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น TICON ไปใช้รองรับการขยายกิจการและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการของบริษัท นอกจากนี้กำไรที่คาดว่าจะได้รับจากการขายหุ้นครั้งนี้ จะส่งผลให้กำไรสะสมในงบแสดงฐานะทางการเงินเพิ่มขึ้น และยังสามารถนำเงินไปชำระคืนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน และหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน ปรับตัวลดลง

ที่ผิดสูตรไปบ้างก็ตรงที่…..ไม่ยอมพูดถึงจ่ายปันผลพิเศษแต่อย่างใด

คงต้องให้ผู้ถือหุ้นไปทวงถามกรรมการกันเอาเองว่าจะ…งก หรือ ใจป้ำ….อย่าได้อ้ำอึ้งรอช้า

วันเดียวกัน ทางด้าน TICON ก็แจ้งเหมือนกันว่า บริษัทได้รับทราบว่า ROJNA มีมติอนุมัติให้ขายหุ้น 26.1% ให้แก่ FAS…เป็นการแจ้งตามพิธี ไม่มีอะไรสลักสำคัญ นอกจาก “….หนูเปลี่ยนเจ้าของแล้ว….” แค่นั้น

ดีลที่จบลง นอกจากข้อดีจะตกกับ TICON ที่จะสามารถเติบโตทั้งรายได้และกำไรในอัตราเร่งขึ้น เพราะในอดีตตกอยู่ในลักษณะ “เด็กฉลาด แต่ขาดวิตามิน M” เพราะความต้องการเพิ่มทุนเพื่อขยายความสามารถทางการแข่งขัน ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ROJNA และ Nippon Steel ไม่ต้องการเพิ่มทุนให้ ต้องพึ่งพาการออกกองทุนเป็นหลัก ทำให้ความสามารถทำกำไรลดลงต่อเนื่องเพราะสัดส่วนหนี้สูงลิ่วมาก มีคำถามว่า….รายย่อยจะได้อะไร

คำตอบคือคำถามย้อนว่า แล้วรายย่อยแต่ละคนนั้น เป็นนักลงทุนแบบไหน

ถ้าเป็นพวกเล่นหุ้นระยะสั้นมาก…ไม่ได้อะไรแน่นอน

ถ้าเป็นวีไอ (จะด้วยเจตนา หรือ ตกกระไดพลอยโจน)….ได้แน่นอน เสี่ยเจริญ ซะอย่าง

อิ อิ อิ

Back to top button