เมื่อโลกรู้ทันเฟดฯ

ทันทีที่รู้ผลการประชุมเดือนมีนาคม ปฏิกิริยาของตลาดเงินและตลาดหุ้นล้วนออกมาทางบวก เพราะค่าดอลลาร์อ่อนยวบ และแรงซื้อในตลาดหุ้นเอเชียพากันเขียวยกแผง (ยกเว้นญี่ปุ่น) เพราะเป็นไปตามคาด เนื่องจากท่าทีของเฟดฯส่งสัญญาณชัดว่าการขึ้นดอกเบี้ย ทำอย่างขอไปทีเท่านั้น


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ทันทีที่รู้ผลการประชุมเดือนมีนาคม ปฏิกิริยาของตลาดเงินและตลาดหุ้นล้วนออกมาทางบวก เพราะค่าดอลลาร์อ่อนยวบ และแรงซื้อในตลาดหุ้นเอเชียพากันเขียวยกแผง (ยกเว้นญี่ปุ่น) เพราะเป็นไปตามคาด เนื่องจากท่าทีของเฟดฯส่งสัญญาณชัดว่าการขึ้นดอกเบี้ย ทำอย่างขอไปทีเท่านั้น

 รายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของการประชุมเฟดฯ มีดังนี้

  • ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นในระดับปานกลาง ส่วนการขยายตัวของการจ้างงานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น มีความแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ
  • ข้อมูลบ่งชี้ว่าอัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อยู่ในระดับปานกลาง หลังจากที่มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4/2560
  • ตัวเลขเงินเฟ้อรายปี ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน) ยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 2% โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวบ่งชี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
  • คณะกรรมการ FOMC คาดว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขยายตัวปานกลางในระยะกลาง ให้การจ้างงานเติบโตอย่างเต็มที่และหนุนราคาให้มีเสถียรภาพ
  • อัตราเงินเฟ้อรายปี คาดว่าจะปรับตัวขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และจะมีเสถียรภาพที่ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายในระยะกลาง แต่คณะกรรมการ FOMC ระบุว่าแนวโน้มความเสี่ยงในระยะใกล้ของเศรษฐกิจยังคงมีความสมดุล แต่ยังคงจับตาสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
  • คณะกรรมการ FOMC มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.50-1.75% ขณะที่จุดยืนด้านนโยบายการเงินนั้นยังคงอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาวะตลาดแรงงานให้ปรับตัวดีขึ้นต่อไป และจะช่วยหนุนเงินเฟ้อให้ปรับตัวสู่ระดับ 2% อีกครั้ง
  • ในอนาคต ทางคณะกรรมการ FOMC จะประเมินภาวะเศรษฐกิจทั้งในแง่ของความเป็นจริงและการคาดการณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายของการจ้างงานสูงสุดและเงินเฟ้อที่ 2% การประเมินนี้จะพิจารณาข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงมาตรวัดภาวะตลาดแรงงาน ปัจจัยชี้วัดเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและคาดการณ์เงินเฟ้อ และการพิจารณาถึงความคืบหน้าทางการเงินและสถานการณ์ในต่างประเทศ
  • คณะกรรมการ FOMC ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปีนี้สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ 2.5% และได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจในปีหน้าสู่ระดับ 2.9% จากเดิมที่ระดับ 2.7% ส่วนการขยายตัวในปี 2563 คาดว่าจะชะลอตัวสู่ 2% ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวยังคงอยู่ที่ระดับ 1.8%

รายละเอียดที่ย่นย่อมานี้ มีผลทันทีคือดอลลาร์อ่อนค่าเทียบเงินทุกสกุลทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบเงินเยนของญี่ปุ่น เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเงินเยน เพราะมีมุมมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าค่าเงินสกุลหรือหลักทรัพย์อื่นๆ โดยดีลเลอร์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระบุว่า นักลงทุนที่คาดการณ์ว่าเฟดฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ ต่างก็พากันผิดหวัง ผสมกับปริวิตกว่า กระแสข่าวที่ระบุประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯจะลงนามบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวานนี้ จะนำไปสู่สงครามการค้าที่บานปลายกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์มากขึ้นในระยะยาว

อีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลย อยู่ที่ระดับหนี้สาธารณะล่าสุดของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นสหรัฐฯที่สูงเกิน 100% ของจีดีพี ซึ่งเคยและยังคงถูกจุนเจือด้วยการออกพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลที่มีลูกค้าในต่างประเทศในฐานะ “ตัวประกัน” แม้จะยังไม่ถึงขั้นที่ถือว่าอันตราย แต่ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นห่วงโซ่ คือ 1) เฟดฯถูก “ขึงพืด” จำกัดขีดความสามารถในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ส่อเค้ามา 2) ค่าดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากผลของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ต่ำติดพื้นเรื้อรัง 3) ปริมาณเงินที่ถูกพิมพ์เพิ่มทุกเดือนตามมาตรการQE ของยูโรโซน และธนาคารกลางญี่ปุ่นยังทำให้เงินท่วมโลกไปอีกยาวนานอย่างน้อยก็ถึงสิ้นปีนี้ หรือกลางปีหน้า

แรงกดดันให้เฟดฯต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ และค่าดอลลาร์ยังต่ำเตี้ยนี้ ไม่ใช่ความลับอะไร เพราะตัวเลขการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันทั้งระยะกลางและระยะยาว จากบรรดา “เจ้าหนี้ขาประจำ” ทั้งหลาย อย่าง ธนาคารกลางชาติต่างๆ ไพรเวทแบงก์ และวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ทั้งหลาย เป็นตัวเลขที่ปิดไม่มิด

เงินทุนที่ไหลออกจากตราสารหนี้อเมริกานี้ มุ่งเป้าไปที่ตลาดตราสารหนี้ในเอเชีย และค่าเงินเยนเป็นสำคัญ แม้จะมีความเสี่ยงไม่น้อย แต่ก็ดีกว่าถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกาที่มีเค้าลางสุ่มเสี่ยงมากขึ้นจนไม่คุ้มค่า

ข่าวร้ายจากเฟดฯอาจจะส่งผลต่อตลาดวอลล์สตรีท แต่อาจจะเป็นข่าวดีสำหรับตลาดเก็งกำไรในเอเชียแทนในปีนี้

Back to top button