ขอนไม้ผุที่หลุดลอย

สัปดาห์ก่อน บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล พากันยิ้มทั่วหน้า จากข่าวกรณี กสทช. เตรียมเสนอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อเลื่อนเวลาการชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดถัดไปที่จะต้องจ่ายในสิ้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ 


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

สัปดาห์ก่อน บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล พากันยิ้มทั่วหน้า จากข่าวกรณี กสทช. เตรียมเสนอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อเลื่อนเวลาการชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดถัดไปที่จะต้องจ่ายในสิ้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

ความคาดหมายของผู้ประกอบการที่เปรียบได้กับ “หาขอนไม้ผุกลางน้ำเชี่ยว” อยู่ที่ว่า คสช.จะเห็นคล้อยตามกับ กสทช. ใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจทีวีดิจิทัล ด้วยการอนุญาตให้พักชำระค่าใบอนุญาต เป็นเวลา 3 ปี โดยให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอพักชำระหนี้ จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด (1.5%) และลดค่าเช่าโครงข่าย (มัค) ลง 50% เป็นเวลา 2 ปี  จากปัจจุบันค่าเช่าโครงข่ายปีละ 170 ล้านบาท สำหรับ HD และ 55 ล้านบาท สำหรับช่องที่เหลือ

ความคาดหมายดังกล่าวทำท่ามอดม้วยไปเมื่อวานนี้ เมื่อนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยหลังเข้าร่วมการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน คสช. มีข้อห่วงใยในการตอบคำถามประชาชน และต้องทำให้ชัดเจนที่สุดว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน แต่เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและรัฐก็ได้ประโยชน์ 

หลังจากการพิจารณาด้วยเหตุผลต่างๆ แล้ว รวมทั้งความเห็นแย้งจากทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ได้เสนอว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนมากเกินไป ที่ประชุม คสช. ก็ตีเรื่องกลับไปพิจารณาดูอีก 1 สัปดาห์ และตอบเป็นหนังสือให้ชัดเจน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนให้มากที่สุดว่าจะทำอย่างไรได้ โดยที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ในฐานะ “เนติบริกร” คนสำคัญ) คงจะเรียกประชุมอีกรอบก่อนเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า

การตีเรื่องกลับกะทันหันของ คสช. ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีลักษณะคล้ายกับการถอยในกรณีสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้ผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เป็นเอกชน ส่วนใหญ่จะพากันขาดทุนชนิด “มองไม่เห็นฝั่ง” บางรายป่วยหนักเข้าข่ายโคม่าในห้องไอซียู มีโอกาสล้มหายตายจากไปก่อนกำหนด ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อเอาตัวรอดจากหายนะ แต่ก็ยังมีคำถามว่าความยากลำบากที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ ระหว่าง 1) คาดเดาอนาคตผิดพลาด หรือประเมินความเสี่ยงต่ำเกิน 2) โมเดลธุรกิจผิดพลาด ไม่สามารถสร้างรายได้ชดเชยรายจ่ายได้เพียงพอ 3) ตลาดธุรกิจโทรทัศน์โดยรวมเป็นขาลงและสภาพแวดล้อมย่ำแย่ทั่วหน้า

ในกรณีข้อ 1) และ 2) คนทั่วไปและนักธุรกิจในธุรกิจอื่นๆ ก็คงให้คำตอบได้ทันทีว่า รัฐไม่ควรยื่นมือเข้าไปโอบอุ้ม เพราะการขาดทุนมโหฬารของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ เกิดจากความด้อยประสิทธิภาพในการแข่งขันของตนเอง ไม่ได้เกิดจากคนอื่นๆ หรือปัจจัยภายนอก

หากเป็นข้อ 3) อาจจะมีเหตุผลเพียงพอที่รัฐจะกล้อมแกล้มเข้าไปโอบอุ้มได้บ้าง แต่ภายใต้คำอธิบายที่เหมาะสมว่าธุรกิจทีวีดิจิทัลมีความจำเป็นต่อ “ความมั่นคงแห่งรัฐ” มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อข้อครหาว่าเอื้อประโยชน์เอกชนเกินขนาด ดังที่ทีดีอาร์ไอทักท้วงเอาไว้

เหตุผลของทีดีอาร์ไอที่ลงลึกในรายละเอียดยังไม่ปรากฏออกมา แต่หากพิจารณาจากข้อมูลเบื้องต้น น่าจะมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในธุรกิจทีวีดิจิทัลของไทยปัจจุบันยังมีบริษัทที่มีความสามารถทำกำไรได้ค่อนข้างสูง และกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเยอะแยะ จากผลของการปรับตัวนำเสนอคอนเทนต์และสาระที่เหมาะกับความต้องการผู้บริโภคได้ดีเยี่ยม

ว่าไปแล้ว ภาวะการลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลได้เคยมีการประเมินล่วงหน้ากันไว้บ้างแล้ว ผู้ประกอบการหลายรายยอมรับว่า 3 ปีแรกของการลงทุนคือช่วงระหว่างปี 2557-2560 จะมีตัวเลขขาดทุนต่อเนื่อง เพราะรายจ่ายจะมากกว่ารายได้ เนื่องจากการที่ตลาดนี้มีการประเมินรายได้จากการวัดเรตติ้ง เพื่อนำไปประเมินคิดราคาค่าโฆษณา อันเป็นที่มาของรายได้หลัก ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีแต่มาตรฐานของบริษัทเดียว คือ บริษัท เดอะ นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผูกขาดตลาดมายาวนาน

เมื่อเรตติ้งกลายเป็นตัวว่าผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจทีวีดิจิทัลจะอยู่รอดในสนามนี้ได้นานแค่ไหน ภาวะที่ “รายเก่ากำไรลด รายใหม่ขาดทุนยับ” ย่อมถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่ควรยอมรับให้ได้ เนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้นทั้งในแง่ของการสร้างเรตติ้งและการแย่งรายได้จากโฆษณา

ประเด็นสำคัญ คือ ภายใต้สภาพการแข่งขันนี้มีผู้ประกอบการบางรายที่โผล่มาแสดงความสามารถทำกำไรด้วยโมเดลที่โดดเด่น เรียกว่าประสบความสำเร็จทั้งการตลาดและการเงินควบคู่กัน

ตัวเลขงบกำไรขาดทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่ทำสื่อทีวีดิจิทัลอย่าง บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK ซึ่งงวดปี 2560 มีกำไรสุทธิรวม 904 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 355% จากงวดปี 2559 ตลอดจนบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ที่สิ้นปี 2560 มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 333 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากงวดปี 2559 ที่มีผลขาดทุนสุทธิรวมทั้งสิ้น 102 ล้านบาท จากการปรับโมเดลพ่วงธุรกิจสื่อเข้ากับธุรกิจสุขภาพ-ความงาม และกรณี บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO ซึ่งในปี 2560 มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นจำนวน 58 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากงวดปี 2559 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 249 ล้านบาท ทำให้ข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วยมาตรา 44 ไม่ง่าย เพราะจะมีคำถามตามมาทันทีใน 2 กรณี คือ

  • หากรัฐช่วยเหลือเฉพาะรายที่ขาดทุนก็จะถูกข้อหาเลือกปฏิบัติ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” และจะยิ่งทำให้บริษัทที่ขาดทุนเหล่านั้นหาเหตุไม่ปรับปรุงตัวเองเพื่อความอยู่รอด กลายเป็น “แมวอ้วนขี้เกียจ”
  • หากรัฐจะช่วยทั้งหมดทุกราย จะมีคำถามว่ารายที่มีกำไรสวยงามอยู่แล้วจะยิ่งมีกำไรมากขึ้น เข้าข่ายเบียดบังภาษีประชาชนโดยไม่สมควรกระทำ

ประเด็นเช่นนี้ หากมีการใช้มาตรา 44 ช่วยจริง ทำให้เกิดคำถามที่ต่อให้เผด็จการทหารอย่าง คสช.ไม่สามารถตอบได้และจนแต้มได้ง่ายๆ

ขอนไม้ผุๆ กลางลำน้ำเชี่ยว จึงมีโอกาสหลุดลอยไปไกล ขึ้นอยู่กับว่าจากนี้ไป ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่กระเสือกกระสนอยู่ จะสามารถอดทนแบบ “พระมหาชนก” ในนิทานชาดกได้นานกว่ารายอื่นแค่ไหน

Back to top button