จีน กลยุทธ์ถอยในรุก

หลายคนเชื่อว่าข้อเสนอกลางสัปดาห์ก่อนจากจีนว่าพร้อมเจรจาปรับลดดุลการค้าที่ได้เปรียบสหรัฐฯมาก อาจจะเป็นเพราะความหวาดกลัวจะปะทะกับสหรัฐฯแบบซึ่งหน้า พูดอย่างนั้นก็คงไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ก็ต้องย้ำว่า ไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้อง 


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

หลายคนเชื่อว่าข้อเสนอกลางสัปดาห์ก่อนจากจีนว่าพร้อมเจรจาปรับลดดุลการค้าที่ได้เปรียบสหรัฐฯมาก อาจจะเป็นเพราะความหวาดกลัวจะปะทะกับสหรัฐฯแบบซึ่งหน้า พูดอย่างนั้นก็คงไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ก็ต้องย้ำว่า ไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้อง 

ความจริงแล้วจีนมีไพ่หลายใบที่พร้อมจะให้เล่นในสงครามการค้าและสงครามเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯมากจนสามารถพลิกแพลงกลับเป็นแต้มต่อ การซื้อเวลาในสงครามการค้า จึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เชิงรุกครั้งสำคัญที่สามารถผนึกพ่วงเป็นเครื่องมือในอนาคตได้

การรุกล่าสุดที่ถือเป็นหมัดเด็ดในอนาคต คือ การเริ่มต้นเปิดตลาด CDRs และกระดานซื้อขายหุ้นสตาร์ทอัพ ในส่วนเฉพาะหุ้นบริษัทเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นหลัก

แม้จะอ้างเพียงแค่ว่าโครงการนี้เป็นแค่โครงการทดลอง แต่ใครก็ย่อมรู้ดีว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แน่นอน ในยามที่สงครามการค้าและการลงทุนเริ่มต้นขึ้นหมาดๆ

สำหรับคนไทยจินตนาการว่าด้วยตราสารที่เป็นหลักทรัพย์ดังกล่าว ค่อนข้างไม่คุ้นเคย แต่ในวงการตลาดทุนแล้วนี่เป็นช่องทางการลงทุนที่ไม่ใช่หุ้นสามัญ หรือกองทุน หรือวอร์แรนต์ หรือตราสารอนุพันธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้จักกันมายาวนานแล้ว

DR มาจากคำนิยามเชิงทฤษฎีว่า เป็นใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง บ้านเราเรียกกันง่ายๆ ว่า ใบแทนใบหุ้น (ซึ่งไม่ถูกต้องนัก แต่เข้าใจง่ายดี) มีสองประเภท คือ

  1. ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง หรือ เอ็นวีดีอาร์ (Non-Voting Depository Receipt : NVDR) เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสถานะเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยอัตโนมัติ ( Automatic List) และมีหลักทรัพย์อ้างอิง ( Underlying Asset ) เป็นหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เข้าใจกันง่ายๆ ว่า เวลาที่ต่างชาติมาซื้อหุ้นไทยที่เกินเพดาน สามารถซื้อ NVDR ได้ในวงจำกัดระดับหนึ่ง ที่มากกว่าขีดจำกัดถือหุ้นโดยต่างชาติ
  2. ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (Depository Receipt : DR) เป็นตราสารที่ออกและเสนอขายโดยบริษัทลูกอีกรายหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ (ของไทย คือ บริษัท สยามดีอาร์ จำกัด) เป็นหลักทรัพย์ที่ให้สิทธิอ้างอิงอาจเป็นได้ทั้งหุ้นสามัญ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ ผู้ลงทุนที่ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทุกประการ

การที่ DR มีฐานะเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง ดังนั้นตลาดหุ้นจึงมีเงื่อนไขกำกับเสมอว่า อาจเพิกถอน DR ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนได้หากเข้าข่ายเหตุที่กำหนด เช่น ขาดคุณสมบัติตามที่กำหนด หรือ มีมูลค่าซื้อขายน้อยกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด หรือหลักทรัพย์ที่ใช้อ้างอิงไม่มีการซื้อขายเป็นเวลานานหรือถูกเพิกถอนออกจากตลาดต้นทาง หรือมีการดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือ DR หรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ เป็นต้น

การใช้ DR เป็นหนึ่งในเครื่องมือข้ามประเทศจึงเป็นความสะดวกอย่างยิ่ง

ในกรณีของจีน ในอดีตบริษัทจีนจำนวนมาก หรือบริษัทร่วมทุนจีน-ตะวันตก มักจะไประดมทุนในรูป DR ในตลาดหุ้นนิวยอร์กจำนวนมาก ในขณะที่อีกหลายบริษัทก็เอาหุ้นสามัญไปขายโดยตรงเอง การเปิดตลาด CDRs จึงเปิดทางเลือกใหม่ที่มีนัยสำคัญสำหรับทั้งบริษัทจีนทบริษัทร่วมทุนจีนต่างชาติ หรือกระทั่งบริษัทต่างชาติเอง ที่สามารถระดมทุนจากเงินหยวนที่นับวันจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ 1) ต้องเป็นธุรกิจเทคโนโลยี และนวัตกรรม สัญชาติจีน ที่มีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 2 แสนล้านหยวน หรือ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) ต้องเป็นบริษัทจำกัดที่เป็นเอกชน ที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปมากกว่า 2.0 หมื่นล้านหยวนขึ้นไป

ในกรณีบริษัทขนาดเล็ก เงื่อนไขยังไม่ชัดเจน แต่นี่คือทางเลือกซึ่งจีนถือว่าจะลดแรงกดดันในกรณีที่สหรัฐฯตั้งข้อแม้ควบคุมการลงทุนในบริษัทอเมริกันในธุรกรรมดังกล่าว เพื่อเป้าหมายคร่ำครึ คือ ปกป้องการขโมยหรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกัน

ก้าวย่างของตลาดทุนจีน เช่นนี้ เดินหน้าสร้างปรากฏการณ์สำคัญก่อนหน้า ซึ่งคาดหมายว่าน่าจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของค่าเงินหยวนอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอย่างยิ่ง นั่นคือการที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานเซี่ยงไฮ้ (The Shanghai International Energy Exchange) ทำการเปิดวันแรกในการชำระเงินค่าน้ำมันส่งมอบล่วงหน้าด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งได้รับการสำรองด้วยทองคำ โดยให้เหตุผลว่าจีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับหนึ่งของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปิดประตูสู่การเป็นเงินสกุลสากลของเงินหยวน เมื่อสองสัปดาห์ก่อน

แม้มูลค่าของการริเริ่มเดินเกมเชิงรุกของตลาดทุนจีน จะยังไม่มากพอถึงระดับน่าตื่นเต้น แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติจริงจัง หลังจากที่มีการทบทวนความเสี่ยงบางอย่างเกี่ยวกับแผนการปรับราคาน้ำมันในสกุลเงินหยวน รวมทั้งการรั่วไหลของเงินลงทุนและสกุลเงิน

เจ้าหน้าที่จีนที่กำกับดูแลเรื่องนี้ อ้างว่าจุดเด่นของตลาดน้ำมันล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ความสามารถในการแปลงค่าราคาน้ำมันส่งมอบล่วงหน้าเชื่องโยงเข้ากับราคาทองคำ เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันเหนือมาตรฐาน Brent ของลอนดอน และ West Texas Intermediate (WTI) ของนิวยอร์ก เพราะเท่ากับย้อนกลับไปสู่ระบบอิงค่าเข้ากับทองคำที่ยกเลิกไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 1971

ชาติที่ให้การสนับสนุนให้จีนเปิดตลาดค้าน้ำมันเป็นสกุลหยวน คือ รัสเซีย หลังจากที่ปลายปีที่ผ่านมา Gazprom บริษัทผู้ผลิตน้ำมันใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซีย ประกาศจะใช้เงินหยวนในการซื้อขายน้ำมันดิบทั้งหมดกับจีนที่ผ่านทางท่อ East Siberian Pacific Ocean คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือกว่า 6.2 พันล้านหยวน และรัสเซียยอมรับให้จีนใช้เงินหยวนสำหรับชำระค่าสัญญาส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผ่านท่อก๊าซฯ Power of Siberia ขนาดรวม 3.8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี มีมูลค่ารวม 2.5 ล้านล้านหยวน หรือราว 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเปิดตลาดน้ำมันล่วงหน้าสกุลหยวน รวมทั้งการเปิดตลาด CDRs เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามท้าทายอำนาจของดอลลาร์สหรัฐที่ครองความยิ่งใหญ่เหนือธุรกิจซื้อขายน้ำมันดิบทั่วโลกมายาวนาน นับตั้งแต่ข้อตกลงถือกำเนิดปิโตรดอลลาร์ วันที่ 8 มิถุนายน 1974 ระหว่าง นายเฮนรี่ คิสซิงเกอร์ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ และเจ้าชาย ฟาอัด ที่รู้จักกันในชื่อ U.S.-Saudi Arabian Joint Commission on Economic Cooperation ในช่วงชุลมุนหลังวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 ซึ่งมีผลทำให้กระบวนทัศน์ของมนุษย์ในเรื่องพลังงานได้

ที่น่าสนใจ คือ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสค่าดอลลาร์เริ่มไร้เสน่ห์กลายสภาพเป็น “แบงก์กงเต็ก” ในอัตราเร่ง ทำให้ค่าเงินเอเชียแข็งขึ้นโดยเปรียบเทียบ ทั้งที่ดอกเบี้ยเฟดสูงกว่าหรือเท่ากับดอกเบี้ยนโยบายชาติอื่นๆ

การถอยในรุกของจีนจึงน่าสนใจยิ่งนัก

Back to top button