กองทุนหรือกองโจร..?

เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า นักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนต่างๆ ทำตัวเสมือนเป็น “เจ้ามือ” อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า นักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนต่างๆ ทำตัวเสมือนเป็น “เจ้ามือ” อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

หุ้นหลายๆ ตัวที่ราคาขึ้นและลงหวือหวา หรือมีแรงเหวี่ยงค่อนข้างมาก

หุ้นเหล่านี้จะมีกองทุนเข้าไปถือหุ้นอยู่

เช่น EA-BEAUTY-COM7–MTLS และหุ้นอื่นๆ อีกหลายตัว

ที่น่าสนใจ คือ หุ้นที่กองทุนเข้ามาถือนั้น

พบว่าหลายๆ บริษัทมีค่าพี/อี เรโช ค่อนข้างสูงมาก หรือมีตั้งแต่กว่า 30 เท่า ไปถึงเกือบ 50 เท่า

และบางตัวก็มีพี/อีมากกว่านั้น

แม้จะมีการบอกว่าการลงทุนของกองทุนไม่ได้ดูเพียงแค่พี/อี

ทว่าจะให้ความสำคัญกับ PEG มากกว่า เพราะแม้พี/อีจะสูง (มาก) แต่แนวโน้มผลประกอบการยังเติบโตสูง และเป็นการลงทุนระยะยาว

ก่อนหน้านี้ เวลานักลงทุนรู้มาว่ากองทุนเข้าหุ้นตัวไหน ก็พยายามวิ่งเข้าไปซื้อ

ผ่านมาถึงตอนนี้ชักไม่แน่ใจเสียแล้วว่า หากวิ่งตามไปแล้วจะ “โดนเท” หรือไม่

และเป็นเรื่องที่นักลงทุนรายย่อยต่างต้องระมัดระวังและจับทิศทางกันเอง

เช่น หุ้น MTLS ราคาเคยขึ้นไปใกล้เต็มมูลค่า

วันดีคืนดีราคาร่วงลงมาอย่างหนัก

ต่อมามีผู้บริหารกองทุนออกมายอมรับว่าได้ขายหุ้นออกไป หลังจากมองว่าราคาเริ่มเต็มมูลค่า หรือเป็นการปรับพอร์ตตามปกติ

พร้อมกับพูดแบบหวานๆ ต่อมาว่าเมื่อราคาปรับลงมาก็อาจเข้าไปรับซื้ออีกครั้ง

แต่ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ราคาหุ้น MTLS ปรับลงมาตลอด (ภาย) หลังมีข่าวเกี่ยวกับนโยบายของทางการที่จะเข้ามาควบคุมเรื่องอัตราดอกเบี้ย

เช่นเดียวกับหุ้นพลังงานไฟฟ้าบางตัว

ราคาเหมือนกับถูกดันขึ้นไปค่อนข้างสูง แล้วจู่ๆ หุ้นได้ถูกกองทุนเทขายออกมา ด้วยเหตุผลเหมือนกันว่า “ปรับพอร์ต” หรือขายทำกำไรตามปกติ

และยังตามด้วยคำพูดสวยๆ ว่าหุ้นนั้นๆ พื้นฐานยังดี และมีโอกาสก็จะเข้าซื้อภายหลัง

ต่อมาหุ้นตัวนั้น ราคายังคงปรับลงมาด้วยหลายปัจจัยและหนึ่งในนั้นคือมาจากนโยบายการรับซื้อไฟของทางการที่จะเปลี่ยนแปลงไป

มีการตั้งคำถามว่ากองทุนที่ขายหุ้นออกมาก่อนนั้น พวกเขารับรู้เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็น “ปัจจัยลบ” ก่อนหรือเปล่า

เรื่องนี้ตอบยากจริงๆ

เพราะหากมองแบบให้ยุติธรรมหน่อย ก็ต้องรับทราบกันว่า ทางกองทุนเขาจะมีทีมงานที่คอยดูปัจจัยบวกและลบอยู่ตลอดเวลา

อย่างเมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นไทยที่ปรับลงหนักๆ ก็ดูเหมือนว่ากองทุนอาจจะพอรับรู้กันล่วงหน้าแล้วว่า ตลาดหุ้นจะปรับฐานหรือร่วงลงอย่างแรง จึงทยอยขายหุ้นปรับพอร์ตกันไปแล้วบ้าง

ประเด็นเรื่องนักลงทุนประเภทสถาบัน (กองทุน) กับนักลงทุนรายย่อย จึงเป็นเรื่องของการ “ชิงไหวชิงพริบ”

ทุกวันนี้รายย่อยเองก็เก่งมากขึ้น และทำการบ้านมาดีมาก เอาชนะได้ทั้งฟันด์โฟลว์และกองทุน

และหลายๆ ครั้ง กลยุทธ์ที่นำมาใช้ก็มักคล้ายๆ เทรดหุ้นแบบสงครามกองโจร

ปกติแล้ว การรบแบบสงครามกองโจร ฝ่ายที่นำมาใช้จะเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่า หรือมีกำลังน้อยกว่า

แต่หากฝ่ายที่แข็งแรงกว่า นำการสู้รบแบบกองโจรมาใช้ ก็ (อาจ) ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

เช่นเดียวกับกองทุนที่นำมาใช้ในเวลานี้

ตลาดหุ้นเป็นเรื่องของ ZeroSum Game

มีผู้ชนะก็ต้องมีผู้แพ้

Back to top button