KTC เซอร์ไพรส์

บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี สร้างเซอร์ไพรส์ในงวดไตรมาส 1/2561 อีกแล้ว เคทีซี มีกำไรสุทธิกว่า 1.20 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% ซึ่งนอกเหนือจะทำสถิติสูงสุดรายไตรมาสด้วยแล้ว ก็ยังเป็นตัวเลขกำไรที่มากกว่าที่นักวิเคราะห์จากทุกโบรกฯคาดการณ์กันไว้


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี สร้างเซอร์ไพรส์ในงวดไตรมาส 1/2561 อีกแล้ว

เคทีซี มีกำไรสุทธิกว่า 1.20 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% ซึ่งนอกเหนือจะทำสถิติสูงสุดรายไตรมาสด้วยแล้ว ก็ยังเป็นตัวเลขกำไรที่มากกว่าที่นักวิเคราะห์จากทุกโบรกฯคาดการณ์กันไว้

ล่าสุด บล.บัวหลวง ได้รับราคาเป้าหมายเคทีซีขึ้นเป็น 351 บาท พร้อมคำแนะนำซื้อ

เช่นเดียวกับโบรกฯอีกหลายแห่งได้ขยับราคาเป้าหมายเคทีซีขึ้นมาเช่นกัน

เมื่อวานนี้ ราคาหุ้นเคทีซีปิดที่ระดับ 330 บาท เพิ่ม 18.00 บาท เปลี่ยนแปลง 5.77% มูลค่าการซื้อขาย 1,830.71 ล้านบาท

ราคาปิดเมื่อวานนี้ยังไม่ถือว่าเป็นสถิติสูงสุด

ก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นเคทีซีเคยขึ้นไปถึง 336 บาท เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา

นักลงทุนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นเคทีซีต่างกำลังจับตาดูว่าฝ่ายบริหารของบริษัทจะมีการพิจารณาเรื่องของการ “แตกพาร์” หรือไม่ หากมีการเสนอมาจากผู้ถือหุ้น

หากจำกันได้ คุณระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เคทีซี เคยบอกเอาไว้เกี่ยวกับการแตกพาร์

“หากราคาหุ้นถึงตัวเลข 4 หลักเมื่อไหร่ ก็อาจจะพิจารณาเรื่องการแตกพาร์”

แต่ผ่านมาถึงวันนี้ ราคาหุ้นเคทีซีเริ่มขยับขึ้นมาเรื่อยๆ และหากยืนเหนือ 300 บาทไปเรื่อยๆ หรืออาจไปแตะระดับ 400 บาท

ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอาจจะมีแผนเรื่องแตกพาร์เลยก็ได้

อย่างเช่น หุ้น AOT มีการแตกพาร์ในช่วงที่ราคาหุ้นขึ้นมาระหว่าง 410–420 บาท

ส่วน PTT มีการชงเรื่องการแตกพาร์ในช่วงราคาหุ้น 470-480 บาท

เป้าหมายของการแตกพาร์ทั้งของ AOT และ PTT เพราะหวั่นว่าหากปล่อยให้ราคายืนอยู่ที่ระดับ 400-500 บาท

อาจจะทำให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงหุ้น AOT และ PTT ยากขึ้น

เช่น หากรายย่อยจะซื้อหุ้น PTT ซัก 100 หุ้น ก็จะต้องใช้เงินกว่า 47,000 บาท

หรือหากซื้อ 500 หุ้น จะใช้เงินถึง 235,000 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากสำหรับรายย่อย เพราะยังมีหุ้นตัวอื่นๆ ที่จะเข้าไปซื้อๆ ขายๆ อีก

นี่ยังไม่รวมนักลงทุนรายย่อยที่ใช้บัญชีมาร์จิ้นในการซื้อขาย

หากนักลงทุนคนไหนมีวงเงินในการใช้มาร์จิ้นไม่มากนัก ยิ่งทำให้อำนาจในการซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นขึ้นมาระดับสูงแบบนี้ ก็จะยิ่งลดน้อยลงไปอีก

ปัญหาที่ตามมา คือ สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยอาจจะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงได้

ปัจจุบันเคทีซีมีราคาพาร์อยู่ 10 บาท

และมีจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 257.83 ล้านหุ้น

ย้อนกลับมาที่สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นเคทีซีพุ่งขึ้นมาแรง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลประกอบการที่ออกมาของเคทีซีเป็นการ “หักปากกาเซียน”  กันเลย

ระเฑียร ศรีมงคล เข้ามาทำงานกับเคทีซีกว่า 5 ปีแล้ว

ว่ากันว่า ก่อนที่เขาจะเข้ามาทำงาน หรือเข้ามาอยู่กับเคทีซีใหม่ๆ คุณระเฑียรยังคงบุคลิกของนายแบงก์ หรือการเป็นนักบริหารการเงินเกือบจะ 100%

ทว่าเวลาผ่านไปเพียงไม่นานนัก

“ระเฑียร” ได้ศึกษาเรื่องของการตลาด (การเงิน) จนก้าวขึ้นมาเป็นนักการตลาดด้านการเงิน หรือ Financial Marketer

จากปัญหาเกณฑ์การคุมสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาในช่วงกลางปี 2560 ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่าเคทีซีจะแย่แน่ๆ

โบรกฯหลายแห่งปรับลดคาดการณ์กำไรและราคาเป้าหมาย

แต่ผ่านมาถึงวันนี้ ระเฑียรและทีมผู้บริหารของเคทีซีต่างสามารถปรับตัวได้ด้วยการสร้างส่วนผสมระหว่างการบริหาร “จัดการด้านการเงิน” และ “การตลาด” ให้เติบโตควบคู่กันไปได้

ทุกวันนี้แบรนด์ของเคทีซีถือว่ามีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง

การรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) หรือมีการเรียกว่า “บัตรเคทีซี” ถึง 80% แล้ว จาก 4-5 ปีก่อนหน้านี้ที่มีเพียง 20%

นั่นเพราะคนส่วนใหญ่ยังคงเรียกว่า “บัตรกรุงไทย”

ในแวดวงการตลาดต่างยอมรับว่าการมีแบรนด์ที่ดี ย่อมสร้างโอกาสทางการตลาดที่ดี

และหากเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ก็ย่อมมีโอกาสสร้างราคาหุ้น (ด้วยพื้นฐาน) ที่ดีด้วยเช่นกัน

Back to top button