ทรัมป์ กับ ศัตรูประดิษฐ์

ทันทีที่สหรัฐฯประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ B5+1 เพื่อเล่นงานอิหร่านเต็มตัวในฐานะประเทศสนับสนุนการก่อการร้ายในเยเมน และซีเรีย ก็ตามมาด้วยข่าวการใช้กำลังอาวุธที่แสดงตัวว่าอิหร่านและผู้ก่อการร้ายที่อิหร่านสนับสนุนนั้นเลวร้ายสมควรแก่การถูกทำลายโดยเร็ว


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ทันทีที่สหรัฐฯประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ B5+1 เพื่อเล่นงานอิหร่านเต็มตัวในฐานะประเทศสนับสนุนการก่อการร้ายในเยเมน และซีเรีย ก็ตามมาด้วยข่าวการใช้กำลังอาวุธที่แสดงตัวว่าอิหร่านและผู้ก่อการร้ายที่อิหร่านสนับสนุนนั้นเลวร้ายสมควรแก่การถูกทำลายโดยเร็ว

เริ่มต้นด้วยข่าวการยิงขีปนาวุธข้ามประเทศจากฝั่งเยเมน โดยพวกฮูตีที่อิหร่านสนับสนุน ไปยังเป้าหมายที่เมืองริยาด แม้จะป้องกันได้ ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น (ข่าวเกิดขึ้นจากฝั่งซาอุดีอาระเบีย) แต่ก็มีผลข้างเคียง ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งกระฉูดบวกเกือบ 3% ในทันที

ไล่เลี่ยกัน ก็มีข่าวจากอิสราเอลเช่นกันว่า กองกำลังหนุนรัฐบาลซีเรีย ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านได้ยิงจรวด 20 ลูกตกในดินแดนอิสราเอลจากฐานทัพในซีเรีย

ปฏิบัติการของกองกำลังที่อิหร่าน (ผ่านกองกำลังที่เรียกว่า Iranian Revolutionary Guards Corps) หนุนหลัง ได้รับการขยายต่อโดยสื่อตะวันตกไปทั่ว เพียงพอที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของอิหร่านในฐานะ “ผู้ร้ายของชาวโลก” ถูกตอกย้ำอีกครั้ง สร้างความชอบธรรมให้กับการโจมตีในระยะต่อไป

ถ้าจะบอกว่าข่าวปฏิบัติการของกองกำลังอิหร่านหรือที่อิหร่านหนุนหลังเป็นชัยชนะของสงครามโฆษณาชวนเชื่อแบบสมคบคิด “สหรัฐฯ-อิสราเอล-ซาอุดีอาระเบีย” ก็คงไม่ผิด เพราะในอดีตก่อนการบุกยึดครองอัฟกานิสถาน (ด้วยข้ออ้างสนับสนุนอัล-กออิดะห์) และอิรัก (ด้วยข้ออ้างซัดดัม ฮุสเซนสะสมอาวุธทำลายล้างขนาดใหญ่) ก็มีลักษณะสร้างภาพ “ผู้ร้ายของชาวโลก” ขึ้นมา

ปฏิบัติการสงครามโฆษณาชวนเชื่อเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่โยเซฟ ก็อบเบิล คิดทฤษฎี “โกหกคำโต” ขึ้นมา การใช้แนวคิดเสริม “สร้างศัตรูประดิษฐ์” ของ คาร์ล ชมิตต์ ก็ถูกนำมาใช้อย่างพลิกแพลงช่ำชองต่อมาไม่เคยขาด

กรณีของอิหร่านที่ถูกเสกปั้น เป็น “ผู้ร้ายของชาวโลก” สืบเนื่องจากการปฏิวัติอิสลาม ค.ศ. 1987 ที่โค่นระบบชาห์ ซึ่งสหรัฐฯ-อังกฤษหนุนหลังเพราะผลประโยชน์น้ำมัน มายาวนาน แม้จะเบี่ยงเบนจากข้อเท็จจริงอย่างมากมาย แต่ก็ยังเป็นพิษตกค้างจนถึงทุกวันนี้ สะท้อนว่าทฤษฎี “สร้างศัตรูประดิษฐ์” ยังเป็นสรณะที่สายเหยี่ยวในเพนตากอนของสหรัฐฯยึดถือต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลง

แนวคิดของคาร์ล ชมิตต์ ถูกเรียกว่า “พ่ออุปถัมภ์ของลัทธินาซี” ในเยอรมนียุคฮิตเลอร์ ปรากฏในหนังสือปรัชญาการเมืองชื่อ “วิกฤตของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา” (Crisis of Parliamantary Democracy) ค.ศ. 1932 เริ่มต้นจากพื้นฐานความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อมนุษย์ว่า มีทั้งเสมอภาคกันและไม่เสมอภาคกัน โดยมนุษย์มีธรรมชาติที่จะเลือกปฏิบัติกับคนที่เป็นมิตรอย่างเสมอภาค และคนที่ไม่ใช่มิตรหรือศัตรูอย่างไม่เสมอภาค

จากพื้นฐานดังกล่าว ชมิตต์อธิบายการจัดระเบียบโครงสร้างทางการเมืองว่า การจำแนกมิตรและศัตรู จะทำให้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยมีความชัดเจนในการสร้างเจตจำนงของรัฐขึ้นมาได้โดยมีเป้าหมายชัดเจน

เนื่องจากรัฐในความหมายของชมิตต์นั้น เอามาจากนิยามของเฮเกลโดยตรง นั่นคือมีฐานะเป็นองค์ประธานสูงสุดทางจริยธรรมของปวงชน มีฐานะและคุณค่าอยู่เหนือกฎหมาย, ศีลธรรม และระบบเหตุผลทั้งปวง ไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อปทัสถานทางจริยธรรมอื่นใด หรืออีกนัยหนึ่ง รัฐคือพระเจ้าผู้ซึ่งเราไม่มีวันหยั่งถึงเจตจำนงได้ (State as a willful and inscrutable God)

เมื่อเจตจำนงสูงสุดของสังคมคือรัฐ แล้วรัฐที่มีประสิทธิภาพ และสร้างเจตจำนงสูงสุดให้ปวงชนได้ ตามสูตรของเฮเกล รัฐจึงต้อง “ลดความเป็นการเมือง” (depoliticizations) ซึ่งจะสามารถขจัดวาทกรรมบนปลายลิ้นที่ว่างเปล่าของนักเลือกตั้ง

วิธีการลดความเป็นการเมืองของชมิตต์ เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ปราศจากการเมือง (Apolitical Democracy) คือ การจำแนกมิตร และศัตรูของรัฐออก แล้วก็ทำลายพวกที่ถูกเรียกว่าเป็นศัตรูลงไปให้ราบคาบ (หากไม่มีศัตรู ก็ต้องสร้างมันขึ้นมา แล้วหาทางทำลายลงไป)

ในขณะที่กรอบความคิดของชมิตต์ระบุเน้นเฉพาะการเมืองในประเทศ แต่เมื่อถูกคนอื่นนำไปปรับใช้กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทำลายล้างศัตรูของรัฐ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงไว้ซึ่งฐานะอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐด้วย และอีกทางหนึ่ง เป็นการสร้างศัตรูที่ไม่จำเป็นขึ้นโดยปริยาย

แนวคิดการทำลายศัตรูทางการเมืองของชมิตต์ เมื่อใช้กับกรณีของอิหร่าน (และอาจจะรวมถึงเกาหลีเหนือ) จึงถูกเบี่ยงเบนไปตามอหังการของผู้นำในชาติอภิมหาอำนาจ ไม่กล้าใช้ท่าทีทำนองเดียวกันกับรัสเซีย หรือจีน

ปริศนาท่าทีของทรัมป์ต่อกรณีอิหร่าน นำมาซึ่งคำถามว่า หากอิหร่านเป็นแค่ศัตรูประดิษฐ์ แล้วราคาน้ำมันดิบที่พุ่งแรงทะลุจุดสูงสุดรอบ 3 ปีครึ่ง เป็นราคาเทียมด้วยหรือไม่

 

Back to top button