ตื่นตูมขาย‘ทีเอ็มบี’

เมื่อวานนี้ราคาหุ้นทีเอ็มปรับร่วงตั้งแต่เช้า


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

เมื่อวานนี้ราคาหุ้นทีเอ็มปรับร่วงตั้งแต่เช้า

ราคาเปิดตลาดอยู่ที่ 2.26 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท จากราคาเมื่อวันศุกร์ซึ่งปิดที่ระดับ 2.24 บาท

ทว่า ราคาหุ้นยืนที่ระดับ 2.26 บาท ได้เพียงชั่วครู่ โดยมีนักลงทุนหลวมตัวซื้อไปบ้างเล็กน้อย ก่อนที่ราคาหุ้นจะถูกสาดออกมาอย่างหนักในทุกช่วงราคาตั้งแต่ 2.24 บาท, 2.22 บาท, 2.20 บาท, 2.18 บาท, 2.16 บาท และ 2.14 บาท

โดยราคาที่ถูกรับซื้อมากสุดคือ 2.16 บาทต่อหุ้น

ระหว่างวัน นักลงทุนและนักวิเคราะห์ที่ยังไม่ได้รับทราบข้อมูล ต่างพยายามหาเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้นร่วง

ด้านโบรกฯ เองก็บอกเพียงว่า ยังไม่ทราบข้อมูล

แต่หากจะดูประเด็นที่เป็นปัจจัยลบ ก็มีเพียงเรื่องสินเชื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่เติบโตติดลบ 1.1%

แต่ตัวเลขดังกล่าว อาจจะส่งผลต่อการประมาณการ การเติบโตของสินเชื่อปีนี้ ที่ทีเอ็มบีตั้งเป้าเติบโต 6%

และแน่นอนว่า หากสินเชื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ในด้านของนักวิเคราะห์ ก็อาจต้องดีดลูกคิด ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ลง และอาจจะรวมถึงราคาเป้าหมายของทีเอ็มบีที่ให้กันไว้ก่อนหน้านี้ด้วย

แต่ก็มีนักเคราะห์บางคนมองว่า ประเด็นเรื่องสินเชื่อ ไม่น่าจะเป็นปัจจัยลบกดพันราคาหุ้นทีเอ็มบีได้ขนาดนี้

และที่ผ่านมาสินเชื่อของทีเอ็มบี (รวมถึงธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ด้วย)  ก็มักจะพลาดเป้า

และกลายเป็นเรื่อปกติไปแล้ว

กระทั่งในช่วงภาคบ่าย เริ่มมีข่าวมรสังคมออนไลน์ทั้งไลน์ และเฟซบุ๊กว่า ทีเอ็มบี มีธุรกรรมบางอย่างในประเทศตุรกี และอาจจะสร้างความเสียหายเกิดขึ้นกับธนาคารได้

หลังเปิดตลาดหุ้นในภาคบ่าย

ราคาหุ้นทีเอ็มบีร่วงลงต่อทันทีจากราคาปิดตลาดภาคเช้า

โดยราคาหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบ 2.14–2.16 บาท กระทั่งมาปิดตลาดที่ระดับ 2.16 บาทต่อหุ้น

หลังจากปิดตลาด ผู้บริหารของทีเอ็มบี ออกมาชี้แจงข่าวเรื่องธุรกรรมในประเทศตุรกีทันทีว่า ไม่มีการลงทุนในพันธบัตร และตราสารหนี้

ส่วนธุรกรรมที่มีนั้น เป็นเพียงสินเชื่อรับซื้อลดเอกสารภายใต้เลสเตอร์ออฟเครดิตสินเชื่อระยะสั้น (L/C) Discounting กับธนาคารในประเทศตุรกี เพื่อบริหารการทำธุรกรรม Trade Finance ให้กับลูกค้าทีเอ็มบี

และยังชี้แจงด้วยว่า ธนาคารที่ทีเอ็มบีทำธุรกรรมด้วยนั้น เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่อยู่ใน 5 อันดับแรก ของประเทศตุรกี

ขณะที่ลูกค้าของทีเอ็มบีเป็นบริษัทย่อยที่ถือ 100%

โดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ สำหรับขนาดของธุรกรรม L/C Discounting นั้น มีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของเงินให้สินเชื่อของทีเอ็มบี

และสถานะเงินให้สินเชื่อดังกล่าว ยังคงเป็นสินเชื่อจัดชั้นปกติ (Pass Lone)

สินเชื่อนี้ มีกำหนดชำระในเดือนตุลาคม 2561

ฟังข้อมูลแบบนี้ก็พอจะเบาใจได้

แต่เข้าใจว่า อาจจะมีนักลงทุนที่ยังคงกังวลเกี่ยวกับสินเชื่อดังกล่าว เพราะขึ้นชื่อว่ามีธุรกรรมในประเทศตุรกี ก็ต้องหวั่นใจเป็นธรรมดา จนกว่าปัญหาตุรกีจะคลี่คลายลงไป

และก็คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้

ธรรมชาติของหุ้นทีเอ็มบี หากนักลงทุนคนไหนที่ติดตาม หรือเป็นแฟนคลับ

ต่างจะทราบดีว่า ราคาหุ้นตัวนี้เวลาลงจะลงเร็วมาก

และช่วงเวลาที่หุ้นกลับมารีบาวด์ จะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีวิ่งขึ้นแบบพรวดพราด

ส่วนราคาหุ้นที่ร่วงลงมาอย่างหนัก และไปดูราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ ก็จะพบว่า ราคาหุ้นมีอัพไซด์ค่อนข้างมาก

ข้อมูลจาก SETTRADE ล่าสุด หรือ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา  มีคำแนะนำสำหรับทีเอ็มบีให้ “ซื้อ” 5 โบรกฯ ถือ 7 โบรกฯ และขาย 1 โบรกฯ

ราคาเป้าหมายต่ำสุดอยู่ที่ 2.22 บาท โดย บล.ยูโอบีฯ และสูงสุดอยู่ที่ 2.75 บาท โดย บล.เอเชีย เวลท์ และ บล.ไทยพาณิชย์

และมี IAA Consensus อยู่ที่ระดับ 2.50 บาท

Back to top button