บาปของเจ้าหนี้

จะนานอีกแค่ไหนกันที่ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องตกเป็นเหยื่อข่าวลือ และจำต้องออกมาชี้แจงกรณีการปล่อยสินเชื่อ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของกลุ่มวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง หรือชื่อใหม่ KPN เอนเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งจนถึงวันนี้ยังหาข้อยุติในกรณีพิพาทในการถือครองหุ้น บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี่ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

จะนานอีกแค่ไหนกันที่ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องตกเป็นเหยื่อข่าวลือ และจำต้องออกมาชี้แจงกรณีการปล่อยสินเชื่อ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของกลุ่มวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง หรือชื่อใหม่ KPN เอนเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งจนถึงวันนี้ยังหาข้อยุติในกรณีพิพาทในการถือครองหุ้น บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี่ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด

คำตอบคือไม่ทราบ เหตุผลก็เพราะบทบาทของธนาคารที่คลุมเครือ เพราะมีหลายรูปแบบนอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ในฐานะเจ้าหนี้เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไปในอดีต แต่ยังทำหน้าที่เสมือนหนึ่งที่ปรึกษาการเงินและดีลเมกเกอร์แบบที่วาณิชธนกิจกระทำ

ยิ่งบทบาทคลุมเครือมากเท่าใด ยิ่งมีโอกาสตกเป็นเหยื่อข่าวลือได้ง่ายเหลือเกิน โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้คนนิยมชมชอบเสพข่าวลือมากกว่าข่าวจริง

ดังที่ทราบกันดี บริษัทดังกล่าวที่ได้เป็นเจ้าของใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าจากพลังลมรายใหญ่สุดของไทย ถึง 8 โครงการ ซึ่งน่าจะเป็นพื้นฐานแห่งความรุ่งโรจน์ แต่กลับมีเรื่องฉาวโฉ่วุ่นวายอีนุงตุงนัง ชนิดที่ผู้เกี่ยวข้องยังไม่กล้าจะยื่นเรื่องขออนุมัติเข้าระดมทุนต่อ ก.ล.ต. ตามแผนธุรกิจเลยด้วยซ้ำ แม้จะมีการปล่อยหุ้นขายแบบเฉพาะเจาะจงในกลุ่มแคบ ๆ ไปมากพอสมควรแล้ว เพราะถึงยื่นเข้าไป ก็คงไม่ได้รับอนุมัติเป็นแน่แท้จากความวุ่นวายที่มีอยู่

ในอดีตเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา เด็กหนุ่มไฟแรงและเต็มไปด้วยความฝันเลิศหรู อย่างนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ที่มีตำแหน่งเป็นถึงประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (Wind Energy) บริษัทแม่ของบริษัททำพลังงานลมผลิตไฟฟ้าแถวอำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา ได้หอบโครงการเข้าขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้รับโดยไม่ยากลำบาก เพราะโครงการดังกล่าวหากวิเคราะห์ในทางการเงินแล้วถือว่ามีอัตรากำไรมหาศาล

ความรุ่งโรจน์ในอนาคตของนายนพพร ซึ่งทำให้นิตยสารตะวันตกคาดหมายว่าเขาจะกลายเป็นมหาเศรษฐีดาวรุ่งคนใหม่ของเอเชียหากโครงการบรรลุเป้าหมาย เพราะนายนพพรนอกจากเป็นประธานบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่แล้ว ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่านบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี่ คอร์เปอร์เรชั่น (REC) ซึ่งถืออยู่ใน วินด์ เอนเนอร์ยี่ กว่า 63% ส่วนบริษัท REC เป็นบริษัทที่ “นพพรถือหุ้นอยู่ถึง 74.5% ร่วมกับบริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ ในฮ่องกง (ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นบริษัทนอมินีของนายนพพรเองหรือไม่) ถืออยู่ 24.5% ได้มีอันต้องสะดุดหยุดลง เมื่อเขาตกเป็นผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับศาลทหารกรุงเทพฯ ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ในข้อหาฉกรรจ์ ทั้งหมิ่นเบื้องสูงตามมาตรา 112, จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำการร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ต้องลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส เพราะผลพวงคดีที่นายนพพรว่าจ้างแก๊งทวงหนี้ (กลุ่มตำรวจ) ให้ไป “อุ้มเจ้าหนี้มาเจรจาเพื่อขอลดมูลหนี้ จากจำนวนหนี้ 120 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท สะเทือนถึงแผนการระดมทุนในตลาดหุ้นไทยรุนแรง

ทางออกของบริษัท WEH จาก “แหล่งข่าว” ในยามนั้นคือ การระดมทุนในตลาดหุ้นไทยจะต้องดำเนินต่อไป เพียงแต่จะต้องลบชื่อของนายนพพรออกจากความเกี่ยวข้องใด ๆ กับ WEH

วิธีการง่ายสุดคือ หาทางทำให้หุ้นที่นายนพพรถือครองใน REC เปลี่ยนไปเป็นชื่อของคนอื่นเสีย 

ในแผนงานนี้ มีข่าวลือตั้งแต่ต้นว่า เจ้าหนี้คือ ธนาคารไทยพาณิชย์มีบทบาทในการ “จัดหา” ผู้ซื้อ ข่าวลือดังกล่าว ผู้บริหารธนาคารไม่เคยออกมาปฏิเสธ ปล่อยให้ความเงียบดำเนินการเองตามธรรมชาติ

แล้วขั้นตอนดังกล่าวก็เกิดขึ้นในวันลงนามสัญญาซื้อขายหุ้น 2558 เมื่อมีข่าวว่า บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์เนอร์ (เอสพีแอล) บริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสเมนท์ (เอ็นจีไอ) และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ (ดีแอลวี) ได้ร่วมกันขายหุ้นประมาณร้อยละ 99 ของหุ้นใน REC (แล้ว) ในราคาตามสัญญาทั้งสิ้น 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีกำหนดชำระเงินเป็นหลายงวด โดยผู้ซื้อหุ้นดังกล่าวได้แก่ ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช (KPNEH) ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นนอมินี ที่มีนายณพ ณรงค์เดชเป็นเจ้าของและมีอำนาจควบคุม โดยที่ผู้ซื้อได้ชำระค่าหุ้นงวดแรกเป็นเงินเพียงประมาณ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ จากยอดเงินงวดแรกที่ต้องชำระตามสัญญาจำนวน 175 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกเหนือจากเงินแล้ว

เงื่อนไขต่อไประบุไว้ในสัญญาขายหุ้นสองฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 คือ เงินส่วนที่เหลืออีกจำนวนประมาณ 525 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซื้อจะต้องชำระเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ได้รับอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงิน และเมื่อมีการดำเนินการเชิงพาณิชย์

เมื่อมีการชำระเงินก้อนแรก จากงวดแรก แม้ไม่ครบ เพราะยังมียอดคงค้างยอดเงินส่วนที่เหลือจำนวน 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็มีการดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้น REC เพื่อทำการเปลี่ยนชื่อเป็น เคพีเอ็น อีที

ในขั้นตอนนี้ มีข่าวลือว่ากลุ่มผู้ซื้อ ได้รับความยินยอมจากธนาคารไทยพาณิชย์แล้ว แต่ก็เป็นเพียงข่าวลือ เพราะว่าไม่เคยมีข่าวการปล่อยกู้จากธนาคารนี้ให้กลุ่มผู้ซื้อแต่อย่างใด แต่มีข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่า เงิน 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ชำระก้อนแรกนั้น มีที่มาจากการที่ KPNEH ออกตั๋ว B/E ระยะสั้นหลายฉบับ รวมเป็นเงิน 2 พันล้านบาท ซึ่งตั๋ว B/E ดังกล่าวนั้นได้มีการต่ออายุ (roll over) หลายครั้ง และจนกระทั่งในที่สุดเมื่อปลายปี 2559 เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่ยินยอมต่ออายุตั๋วให้ เป็นเหตุให้นายณพ ณรงค์เดช จำเป็นต้องไปขอยืมเงินจากกงสีครอบครัวณรงค์เดชเพื่อมาชำระหนี้ตั๋ว B/E เหล่านี้ และยังมีเงินบางส่วนจำนวน 300 ล้านบาท ที่เบิกมาจาก วินด์ เอนเนอร์ยี่ จนเป็นเหตุให้ผู้จัดการฝ่ายบัญชีของวินด์ฯ ทำหนังสือร้องเรียนผู้ถือหุ้นและลาออก และต่อเนื่องให้ผู้สอบบัญชีจากสำนักงาน KPMG ก็ลาออกตามในเดือนพฤษภาคม 2559

ผลพวงต่อมาคือ การที่ฝ่ายผู้ซื้อ (ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช) ไม่ชำระค่าหุ้นงวดแรกให้ครบถ้วน ฝ่ายผู้ขายจึงได้ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการของไอซีซีในต่างประเทศ เป็นปัญหาทำให้คดีค้างคาไม่สามารถทำนิติกรรมต่อได้

ล่าสุดเดือนสิงหาคม มีข่าวลือชิ้นใหม่ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ทำหน้าที่ “จัดหา” อีกครั้ง โดยดึงเอาบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มาเสียบแทน โดยพร้อมจะปล่อยเงินกู้ให้ แม้ข่าวนี้ทาง GULF จะปฏิเสธ ก็มีคนเชื่อว่าข่าวลือเป็นจริงกว่าข่าวปฏิเสธ

คำชี้แจงของผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์มีสาระว่า 1) การปล่อยเงินกู้ให้ WEH ทั้ง 8 โครงการ (ทำแล้ว 3 เหลืออีก 5) เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคารฯ โดยมีหลักประกันคุ้มวงเงิน 2) ธนาคารฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทดังกล่าว เนื่องจากธนาคารฯ มิได้รับเอาหุ้น WEH ซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทในคดีมาเป็นหลักประกัน 3) ธนาคารไม่มีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินใด ๆ แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นปัจจุบัน เพื่อนำไปชำระหนี้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัญญาซื้อขายหุ้น 4) กรณีข้อพิพาทภายในครอบครัวผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ธนาคารฯ ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใดทั้งสิ้น 5) ข้อมูล (ที่อ้างถึงธนาคาร) ตามที่ปรากฏเป็นข่าวและมีการอ้างถึงแหล่งข่าวจากธนาคารฯ มาโดยตลอดนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

หากไม่นับสาระข้อที่ 2)-4) ซึ่งถือเป็นการ “ลอยแพ” นายณพ ณรงค์เดช อย่างเป็นทางการแล้ว จะเห็นได้ว่า ไม่มีหลักประกันใด ๆ เลยว่าคำชี้แจงของธนาคารไทยพาณิชย์จะสามารถป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อข่าวลือได้เลย

ตราบใดที่ธนาคารและบริษัทในเครือข่ายยังคงแสดงบทบาท “เจ้าหนี้-ดีลเมกเกอร์” นิทานว่าด้วยการโยงใยกิจกรรมหรือธุรกรรมลูกค้า ย่อมเกิดขึ้นได้

ในสังคมไทยนั้น มีคนบอกว่า หากมีคนรู้ความลับมากกว่า 2 คนขึ้นไป ความลับจะไม่มีอีกต่อไป แล้วเกม “เจ๊กกระซิบ” (Chinese Whisper) ก็จะทำให้ข้อมูลเพี้ยนจากเค้าเดิมมากมาย

บนเส้นทางนี้ ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์คงต้องยอมรับสภาพว่าเป็น “บาปของเจ้าหนี้” โดยปริยาย

Back to top button