สัปดาห์ชี้ขาด

กลางสัปดาห์นี้ เฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐ จะมีการประชุมประจำเดือน แต่สัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือเฟดฟันด์เรต จะต้องขึ้นอีก 0.25% ก็มาแรงจริง ๆ


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

กลางสัปดาห์นี้ เฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐ จะมีการประชุมประจำเดือน แต่สัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือเฟดฟันด์เรต จะต้องขึ้นอีก 0.25% ก็มาแรงจริง ๆ

เป็นจังหวะบังเอิญเหมาะหลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์ที่สถิติสร้างหลักหมุดใหม่ ออลไทม์ไฮ ที่เหนือ 26,700 จุดเรียบร้อยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ว่าลดความร้อนแรงพอดี

ดัชนีเศรษฐกิจหลายรายการเริ่มส่งสัญญาณขานรับการทะยานขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของเฟดกันไปแล้ว ซึ่งมีความเป็นไปได้ 2 ทางว่าอาจจะย่อตัวลงมาทำกำไร แล้วพอเฟดขึ้นดอกเบี้ยจริง ก็อาจจะมีแรงซื้อระลอกใหม่ขึ้นมาสวนทาง หรือก็ลงแรงไปเลยจบรอบชั่วคราว

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์มาตรฐาน หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.096% แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ขานรับตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาพันธบัตรปรับลดลง เพราะราคาพันธบัตรและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

บอนด์ยีลด์ขึ้นเพราะขานรับข่าว กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ที่เปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2512 หรือ 49 ปีก่อน ขณะที่ตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 2,250 ราย สู่ระดับ 205,750 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2512 เช่นกัน

การว่างงานที่ลดลง ทำให้แรงกังวลเรื่องเงินเฟ้อกลับมารบกวนสายเหยี่ยวในเฟดครั้งใหญ่

เพราะก่อนหน้านี้ มีตัวเลขที่ตอกย้ำมากมายชนิดยากเลี่ยงได้ว่ายุคของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมาถึงแล้ว

ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตามรายงานกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากพุ่งขึ้น 0.7% ในเดือน ก.ค. แต่ยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ขยับขึ้น 0.1% ในเดือน ส.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 0.8% ในเดือน ก.ค.

ตัวเลขของเฟด รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ (วัดการปรับตัวของภาคการผลิต, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค) เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ส.ค. โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน สู่ระดับ 78.1% ในเดือน ส.ค. จากระดับ 77.9 ในเดือน ก.ค.

ด้านผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับ 100.8 ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในปีนี้ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และยังพบว่า ผู้บริโภคมีมุมมองเชิงบวกต่อรายได้และการจ้างงานในอนาคต

สัญญาณเหล่านี้ สนับสนุนการขึ้นอันตราดอกเบี้ยของเฟดทั้งสิ้น แม้ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่คาดหมายว่าน่าจะทำให้ต้นทุนราคาสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้น

สัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว หากเฟดต้องการตอกย้ำหลักการเรื่อง “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” ในการกำหนดนโยบายทางการเงินจริง วันพุธนี้ (ตรงกับตีสองของเช้าวันพฤหัสบดีในไทย) จะเป็นที่ชัดเจนว่า เจตนารมณ์ของ โดนัลด์ ทรัมป์และพวกในทำเนียบขาว ที่ทำการออกโรงวิพากษ์ประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล กรณีปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถึง 3 ครั้งอย่างผิดมารยาท อาจจะไร้ประโยชน์และไร้ความหมาย

1 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ ได้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งนางเยลเลน และ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่ครั้งล่าสุด เขาระบุว่านายพาวเวลควรจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และจะไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวดเกินไป ถึงขั้นที่ทุกครั้ง ซึ่งเศรษฐกิจปรับตัวขึ้น ก็ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดักเอาไว้

แม้ทรัมป์จะยอมรับว่า ถึงไม่ชอบงานซึ่งเฟดทำ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก แต่การกระทำดังกล่าวทรัมป์ลืมไปว่าบทบาทเรื่องการกำกับนโยบายการเงินของเฟดนั้นเป็นมากกว่าตัวเลข แต่เป็นยุทธศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่หยั่งลึกมากกว่าจะถูกสั่นคลอนได้

นับแต่การเถลิงอำนาจเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้ข้อตกลงเบรตัน วูด ดอลลาร์ถูกกำหนดว่าต้องเป็นเสาหลักของสกุลเงินทั่วโลก แม้ว่าบางครั้งอาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทตามยุคสมัยไปบ้าง

ผู้นำสหรัฐฯ ทุกยุคแสดงความหวาดกลัวอย่างยิ่งเกี่ยวกับฐานะของเงินดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องค่าดอลลาร์อ่อนหรือแข็ง แต่อยู่ที่ว่า โลกจะเมินเฉยต่อบทบาทของดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อใด

ปัจจุบัน นับตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา กุญแจสำคัญที่ชี้ชะตาดอลลาร์ให้ยิ่งใหญ่ และมีมูลค่าเกินจริงมากกว่า 30% มาโดยตลอด เริ่มต้นจากการถือกำเนิดของ ปิโตรดอลลาร์ หรือดอลลาร์ในตลาดน้ำมันและพลังงานของโลก บทบาทของเฟดในการกำหนดปริมาณเงินดอลลาร์และอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นภารกิจที่ “ห้ามแตะต้อง” เสมอมา

ครั้งนี้ ก็คงเช่นกัน ถ้าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย แล้วตลาดหุ้นจะร่วง ทรัมป์ก็คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากบ่นไปเท่านั้น

X
Back to top button