หมี และบาป 7 ประการ

จู่ ๆ ก็มีคนนำเอา “ทฤษฎีคลื่นยาวเอลเลียต” มาอธิบายว่า ถึงเวลาที่ตลาดหุ้นทั่วโลกนำโดยสหรัฐฯ จะต้องย่างเข้าสู่ภาวะหมีระลอกใหม่ หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์อุตสาหกรรม และ S&P500 เป็นขาขึ้นยาวนานกว่า 1 ทศวรรษนับแต่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

จู่ ๆ ก็มีคนนำเอา “ทฤษฎีคลื่นยาวเอลเลียต” มาอธิบายว่า ถึงเวลาที่ตลาดหุ้นทั่วโลกนำโดยสหรัฐฯ จะต้องย่างเข้าสู่ภาวะหมีระลอกใหม่ หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์อุตสาหกรรม และ S&P500 เป็นขาขึ้นยาวนานกว่า 1 ทศวรรษนับแต่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

บทสรุปดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ยากจะรู้ยามนี้ แต่มันก็ทำให้ต้องหวนกลับไปทบทวนกันใหม่อยู่ดี

ทฤษฎีคลื่นเอลเลียต เป็นทฤษฎีที่มีไว้เป็นกรอบทางเทคนิคเพื่อสะท้อนพฤติกรรมการซื้อขายของคนหมู่มาก โดยเน้นวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของราคาตามหลักคณิตศาสตร์ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดทุนรวมถึงตลาดหุ้น เกิดจากจิตวิทยามวลชน ซึ่งแสดงผลออกมาในรูปแบบราคาในอนาคตได้บ้าง แม้ไม่ทั้งหมด

ดังที่ทราบกัน ทฤษฎีนี้เริ่มต้นขึ้นจากการสังเกตช่วงเวลาที่ตลาดวอลล์สตรีทบูมเป็นฟองสบู่ จนถึงล่มสลาย ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1920-1930 โดยนักบัญชีอัจฉริยะอยู่คนหนึ่งชื่อว่า ราฟ เนลสัน เอลเลียต ได้ทำการวิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของราคามาอย่างยาวนานกว่า 70 ปีในตลาดหุ้น ซึ่งเขาได้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วราคาในตลาดมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ๆ กันอยู่เสมอ ๆ โดยมีลักษณะเป็นวงจร

สาเหตุหลักมาจากอารมณ์ของนักลงทุนที่มีผลกระทบโดยตรงต่อตลาด โดยมีปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมีอาการ “หวั่นไหว” ที่เกิดขึ้นจากข่าวต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุนในขณะนั้น

พูดง่าย ๆ ก็การสร้างสูตรที่ยึดโยงคือความโลภและความกลัวของมนุษย์นั่นแหละ

เอลเลียตได้อธิบายว่า การสวิงขึ้นและลงของราคานั้น เกิดจากพฤติกรรมทางจิตวิทยาในการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปแบบของราคาที่มีลักษณะเป็นรูปแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ อยู่เสมอ ซึ่งเขาเรียกการสวิงของราคานี้ว่า “คลื่น (Wave)” ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าหากเราสามารถวิเคราะห์คลื่นได้ น่าจะสามารถทำนายได้ว่าต่อไปทิศทางของราคาจะไปทางไหน

ทฤษฎีของเขาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมาก ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยชื่นชอบ เพราะช่วยให้สามารถทำนายได้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดจุดสูงสุด และเมื่อไหร่จะเกิดจุดต่ำสุด

สูตรง่าย ๆ ของคลื่นเอลเลียตคือ เวลาตลาดเป็นขาขึ้น หรือภาวะกระทิง จะมาช่วงกราฟเป็นขาขึ้น (impulsive phase) 5 ช่วง และปรับหรือพักฐาน (corrective phase) 3 ช่วง ในทางกลับกัน หากตลาดเป็นขาลง หรือภาวะหมี จะเป็นช่วงปรับหรือพักฐาน 5 ช่วง ขาขึ้น 3 ช่วง

ประเด็นคือการขีดเส้นแบ่งช่วงเวลาเพื่อกำหนดขาขึ้น หรือขาลงของตลาด มีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับมุมมองนักวิเคราะห์เป็นเกณฑ์

ยามนี้ นักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท มองว่า 10 ปีของขาขึ้นอันยาวนาน และดัชนีดาวโจนส์ S&P500 และแนสแด็ก ต่างทำจุดสูงสุดมากันหมดแล้ว ด้วยปัจจัยที่ส่งเสริมสารพัด ดังนั้นหลังจากผ่านจุดดังกล่าวมา ก็เกิดตัวแปรหรือเหตุปัจจัยเชิงลบ ที่เข้าข่ายบาปพื้นฐาน 7 ประการ (7 original deadly sins) ที่อธิบายโดยนักบวชคริสต์มายาวนานพอดี

รากเหง้าของคำนี้ มาจากศาสนจักร โรมันคาธอลิกในยุคกลางหลังสงครามครูเสดในช่วงกาฬโรคระบาดทั่วยุโรป คริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งเน้น “ศรัทธาเป็นหลัก ข้อเท็จจริงเป็นรอง” มีเป้าหมายกำกับพฤติกรรมให้มนุษย์ไม่ทำตามสัญชาตญาณของตนมากจนเกินไป โดยได้แบ่งบาปออกเป็น 2 ประเภทคือ แบบที่สามารถยกหรือไถ่โทษให้ได้ และแบบไม่สามารถยกหรือไถ่โทษได้ หลักคำสอนนี้เป็นที่นิยมในหมู่ศิลปิน (หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน)

ผลงานศิลปะมากมายที่สื่อถึงบาป 7 ประการแพร่ไปทั่ววัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีความรุนแรงจากน้อยไปมากตามลำดับ ได้แก่

1) ราคะ (luxuria) การคิดในทางเสื่อม ความต้องการเป็นที่สนใจจากผู้อื่น ความต้องการความเร้าใจ หมกมุ่นทางเพศที่มากและผิดมนุษย์ปกติ สัญลักษณ์คือ งู วัว บทลงโทษผู้กระทำบาปข้อนี้คือ ตัดอวัยวะเพศ

2) ตะกละ (gula) การสนองความต้องการโดยไม่ยั้งคิด มุ่งร้ายเอาของคนอื่น บริโภคสิ่งต่าง ๆ จนขาดการไตร่ตรอง บริโภคจนเกินจำเป็น และยังเป็นบาปที่สามารถชักจูงให้ทำบาปอื่น ๆ สัญลักษณ์ของตะกละคือหมู

3) โลภะ (avaritia) ความทะเยอทะยานอันแรงกล้าในการให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงแนวทางหรือคุณธรรมในการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น รวมถึงการหาทรัพย์อย่างทุจริตมาใช้ทางศาสนา

4) เกียจคร้าน (acedia) ความไม่สนใจใยดีต่อการเปลี่ยนแปลง ต่อสิ่งรอบข้าง ใช้เวลาอย่างไร้ค่า ความไม่ต้องการที่จะทำอะไร โดยปล่อยให้ผู้อื่นเป็นผู้ทำงานหนักเพื่อตนเองเท่านั้น การปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ของตน สัญลักษณ์ของเกียจคร้านคือแพะ

5) โทสะ (ira) ความโกรธเคืองและพยาบาทที่ขาดความเหมาะสม การทนรับสภาพในบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ การแสวงหาหนทางผิดกฎหมายบ้านเมือง ซาตาน ปีศาจแห่งความมืดเป็นตัวแทนประจำบาปข้อนี้ สัญลักษณ์ของโทสะคือหมี

6) ริษยา (invidia) ความปรารถนาให้ผู้อื่นรับเคราะห์ การไม่ยอมรับผู้อื่นที่มีสิ่งต่าง ๆ ดีกว่าตนเอง ทั้งด้านทรัพย์สมบัติ ลักษณะรูปร่างนิสัย และการประสบความสำเร็จ

7) อหังการ (superbia) เป็นยอดแห่งบาปทั้งปวง หมายถึงความต้องการเป็นผู้ที่มีความสำคัญและอำนาจเหนือผู้อื่น สัญลักษณ์ของอัตตาคือม้า สิงโต

บาปทั้ง 7 ประการร่วมสมัย ไม่เอ่ยถึงคุณธรรม แต่ประกอบด้วย 1) การขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก 2) ผลประกอบการไตรมาสสามและสี่ที่ย่ำแย่ 3) ความตึงเครียดของเศรษฐกิจชาติต่าง ๆ 4) ปัญหาความวุ่นวายในยูโรโซน 4) กรณีการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ 5) สงครามการค้าสหรัฐฯ กับคู่ค้า 7) เศรษฐกิจที่โตช้าลงของจีน

บาปทั้ง 7 ประการนี้ กลายเป็นข้อสรุปของขาลงของคลื่นเอลเลียต

ใครจะเชื่อหรือไม่ สุดแท้แต่….???

Back to top button